ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ สภาพธรรมใดเกิด ต้องมีปัจจัยให้เกิด


    ผู้ฟัง ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ แต่ว่ามีอะไรหลายอย่างไม่ได้เกิดแต่เหตุ เรียกว่า อเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นประโยชน์ที่จะได้เข้าใจชัดเจน เพราะว่า ภาษาไทยเราใช้คำภาษาบาลี เช่น เหตุเราก็เอามาจากคำว่า เห - ตุ “ปัจจัย” เราก็ใช้ด้วย และเราก็ไม่ได้คำนึงถึงว่าขณะไหนเราเข้าใจว่าอย่างไร เช่นเราใช้คู่กันก็มี “เหตุปัจจัย” แล้วแต่เหตุปัจจัย เหตุเดียวก็ไม่พอ ก็ต้องมีปัจจัยด้วย แต่นี่คือความหมายที่เราใช้ในภาษาไทย เพราะฉะนั้นเวลานี้เรากำลังศึกษาธรรม เราก็ควรจะได้เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก ว่าจริงๆ แล้วเราใช้คำว่าปัจจัย หมายความว่า สิ่งนั้นเกื้อกูลเป็นเหตุอุปการะที่จะให้สภาพธรรมอย่างอื่นอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวนั้นใช่ไหม เพราะฉะนั้นจะต้องมีปัจจัยซึ่งเป็นธรรมที่เกื้อกูลหรือเป็นเหตุที่จะอุปการะให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นซึ่งมี ๒ อย่าง คือ ปัจจัยเกื้อกูลให้สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยชื่อว่า "ปัจจยุบัน" มาจากคำว่า "ปัจจยะ" กับ "อุปันนะ" รวมเป็น "ปัจจยุบัน" ซึ่งไม่ใช่ปัจจุบัน ปัจจยุบัน เพราะมาจากคำว่า ปัจจัยกับอุปันนะ เพราะฉะนั้นถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เป็นผลเกิดขึ้น ต้องมีเหตุหรือมีปัจจัยนั่นเอง ในภาษาที่เราใช้ เราจะใช้คำว่าเหตุปัจจัย แต่จริงๆ ปัจจัยก็คือเป็นธรรมที่เกื้อกูล สนับสนุน หรือจะใช้คำว่าเป็นเหตุในภาษาไทยก็ได้ ที่จะทำให้สภาพธรรมอีกอย่างเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ที่จะไม่มีปัจจัยให้เกิดขึ้นไม่มี ในพระพุทธศาสนาไม่มีเลยที่จะบอกว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีปัจจัยให้เกิดขึ้นนี่ไม่มี แต่สภาพธรรมใดที่เกิดขึ้นต้องมีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น กล่าวเช่นนี้อย่างกว้างที่สุด

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 66


    หมายเลข 6847
    20 ม.ค. 2567