ปรมัตถธรรม กับ ความเป็นเหตุปัจจัย -พฐ.67


    ท่านอาจารย์ แต่สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นต้องมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น กล่าวเช่นนี้คืออย่างกว้างที่สุด ปรมัตถธรรม ๔ คือ ธรรมที่มีจริง ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นิพพานไม่ได้เกิดขึ้นจะมีปัจจัยใดๆ มาปรุงแต่งให้นิพพานเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรม ๔ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม นิพพานเป็นวิสังขารธรรมไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง และเป็นอสังขตธรรมด้วย

    เพราะฉะนั้นสำหรับจิต เจตสิก รูป ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิด ไม่ได้หมายความว่ามีสภาพธรรมหนึ่งเกิดอยู่แล้ว แล้วก็ไปคอยปัจจัยใดๆ แต่หมายความว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่เกิด ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็ตามที่เกิดขณะนี้หรือขณะใดก็ตาม ต้องมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น น่าคิดใช่ไหมว่าแล้วอะไรเป็นปัจจัย ในเมื่อปรมัตถธรรมก็มีจิต เจตสิก รูป ฉะนั้นปัจจัยก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีอะไรเป็นอารมณ์ แต่สภาพธรรมที่เป็นปัจจัย ต้องเกื้อหนุนอุปการะให้สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพธรรมใดเกิดสภาพธรรมนั้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น แม้แต่จิตเห็น แม้แต่ปฏิสนธิจิต แม้แต่เจตสิกใดๆ ก็ตามต้องมีปัจจัย สภาพนั้นๆ ที่เกิดจึงจะเกิดขึ้นได้ นี่คือความหมายของปัจจัยโดยทั่วไป ถ้าใช้คำว่าเหตุปัจจัยในภาษาไทยเราก็รวมเลย อะไรๆ เราก็ไม่ได้แยกสักอย่างแล้วแต่เหตุปัจจัย แท้จริงแล้วรูปก็เป็นปัจจัย นิพพาน และบัญญัติก็เป็นอารัมมณปัจจัย คือไม่สามารถจะไปทำอะไรได้เลยนอกจากเป็นอารมณ์ของจิต ตามประเภทของจิตนั้นๆ แต่จิต เจตสิกอื่นๆ ต้องอาศัยปัจจัยจึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าทราบแล้วก็จะไม่สงสัย ปัจจัยนี้มีทั้งหมด ๒๔ ปัจจัย โดยประเภทใหญ่ เมื่อจิตอาศัยโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ซึ่งเป็นเหตุ เป็น เห-ตุปัจจัย เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ ไม่ใช่เป็นปัจจัยโดยประการอื่น แต่ขณะใดที่เจตสิกเหล่านี้ที่เป็นเหตุเกิดกับจิตก็เป็นเหตุปัจจัยให้อะไรเกิด ให้จิตที่ประกอบด้วยเหตุนั้นเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องตรงไปตรงมา แต่ก็ยังมีอุตตมเหตุ คือ "กรรม" กรรมนั้นก็กว้างขวางมาก ทั้งหมดที่เราเรียนนี้ก็เป็นเรื่องของกรรม ที่จะทำให้จิตประเภทไหนเกิด ทางทวารไหน อะไรต่างๆ ซึ่งทั้งหมดก็มาจากสาธารณะเหตุ คือ "อวิชชา" เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก่อนที่จะถึงอุปมาต่างๆ เพราะอุปมาก็เพียงแต่ว่าแสดงตัวอย่างพอที่จะให้พิจารณาได้แต่ถ้าเราเข้าใจสภาพธรรมนั้นๆ แล้วก็เกือบจะไม่ต้องอาศัยอุปมาก็เข้าใจได้

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67


    หมายเลข 6848
    20 ม.ค. 2567