ปัญจทวาร


    ผู้ฟัง ขอให้อธิบายปัญจทวาร และมโนทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะว่าแต่ละวันรู้สึกจะหนีไม่พ้นปัญจทวารเลย ทั้งอายตนะภายนอก และภายใน

    ท่านอาจารย์ ที่ได้กล่าวถึงทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นตอนเช้า ตอนบ่าย วันเสาร์ อาทิตย์ก็เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง ไม่พ้นไปได้เลย เพื่อที่จะให้มีความเข้าใจยิ่งขึ้น อาจจะติดศัพท์ที่ว่าปัญจทวาร ปัญจะ คือ ห้า ทวาร คือ ประตูหรือทาง ซึ่งขณะนี้ก็กำลังมีทางที่จะทำให้จิตเกิดขึ้น และก็รู้อารมณ์ต่างๆ แต่ละอารมณ์ แต่ละทวารหรือแต่ละทางไม่เหมือนกันเลย เช่น ทางตาในขณะนี้ เมื่อพูดถึงปัญจทวารก็จะไม่พ้นจากรูป ๕ รูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ขณะนี้ตา รูปที่กำลังกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ รูปนี้ไม่มีใครมองเห็นเลย แต่มี เพราะว่าเป็นรูปที่ไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ใช่รูปอื่นใด แต่เป็นรูปที่สามารถกระทบกับธาตุที่เป็นสีสันวัณณะ จะใช้คำว่าอะไรก็แล้วแต่ จะใช้คำว่าแสงสว่าง หรือ ใช้คำว่ารูปารมณ์ วัณณะ นิภา แล้วแต่มีคำใช้มากมาย ภาษาหนึ่งๆ ก็จะมีคำที่คล้ายกันเช่น ภาษาไทยก็จะมีคำที่มีความหมายเหมือนๆ กันหลายคำฉันใด ภาษาอื่นก็ฉันนั้น

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่สามารถจะเข้าใจได้ คือขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจธาตุแท้ของสิ่งที่กำลังปรากฏว่าธาตุแท้จริงๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏก็คือเป็นรูปธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริงชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ แต่สามารถกระทบเฉพาะกับจักขุปสาทที่เกิดอยู่กลางตา เพราะฉะนั้นขณะนี้ทุกคนมีจักขุปสาท แล้วก็มีเห็น เพราะมีรูปธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งกำลังกระทบกับจักขุปสาทเป็นปัจจัยให้เห็น ก่อนที่จะกล่าวถึงจิตเห็น จึงต้องกล่าวตามลำดับว่าจิตเห็นจะเกิดขึ้นทันทีไม่ได้เลย ก่อนจิตเห็นก็จะต้องมีจิตที่ไม่ใช่ภวังคจิต ต้องฟังตามลำดับ คือก่อนที่จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อใครก็ตามเกิดแล้ว แม้ว่าจิตขณะแรกที่เป็นปฏิสนธิดับไปแล้วก็จะต้องมีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อทำภวังคกิจดำรงรักษาภพชาติความเป็นบุคคลนี้ แต่จะเป็นภวังค์ตลอดไปเป็นไปไม่ได้ เพราะมีเหตุที่จะทำให้เป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ เมื่อถึงกาละที่กรรมจะให้ผลทำให้เกิดการเห็น ก็จะมีสิ่งที่กระทบกับจักขุปสาทซึ่งขณะนั้นจิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ แต่เนื่องจากการกระทบกันก็จะเป็นเหตุให้ภวังค์ซึ่งเกิดดับสืบต่อจะต้องสิ้นสุดกระแส คือจะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้ แต่ก่อนที่จะถึงภวังค์ขณะสุดท้ายก็จะต้องเป็นภวังคจลนะก่อน เพื่อที่จะแสดงอายุของรูป ๑๗ ขณะ ซึ่งจะแสดงอายุของทั้งปสาทรูปคือ จักขุปสาท และสิ่งที่กระทบว่าทันทีที่จักขุปสาทรูปเกิด และรูปที่กระทบจักขุปสาทเกิดกระทบกัน ขณะนั้นจิตกำลังเป็นอตีตภวังค์ และถ้าถึงกาละที่กรรมจะให้ผลต้องสิ้นสุดภวังค์ แต่จะสิ้นสุดทันทีไม่ได้ จะต้องมีภวังคจลนะเกิดสืบต่อ และเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังค์ขณะสุดท้าย ภาษาบาลีใช้คำว่า "ภวังคุปัจเฉทะ" หมายความว่าขณะที่ตัดกระแสภวังค์ หมายความว่าภวังค์จะเกิดต่อไปอีกไม่ได้ โดยที่ถึงกาละที่กรรมจะให้ผลทางตาคือ เห็น

    นี่คือชีวิตจริงๆ ทุกคนต้องเห็น ไม่เห็นได้ไหมถ้ามีจักขุปสาท และเมื่อได้กระทำกรรมที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ผลก็คือว่าต้องมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส สิ้นสุดไม่ได้เลย ตามกระแสของจิตที่จะต้องเกิดดับสืบต่อจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่งจนถึงขณะสุดท้ายคือจุติจิตของพระอรหันต์ เมื่อนั้นจิตจะไม่มีการเกิดอีกเลย จักขุปสาทรูปเป็นจักขุทวารเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เมื่อถึงกาละที่กรรมจะให้ผลคือทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นก็จะมีรูปที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทกระทบ ขณะนั้นเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นขณะที่กระทบกันของปสาทรูป และรูปที่กระทบขณะนั้นก็เป็นอตีตภวังค์ เพื่อที่จะนับอายุของรูปว่ารูปจะมีอายุ ๑๗ ขณะของจิตจะดับเมื่อไหร่ เมื่ออตีตภวังค์ดับไปแล้ว ภวังคจลนะเกิดแล้วดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อดับไปแล้ว ต่อจากนั้นเริ่มวิถีจิต วิถีจิตแรกยังไม่ใช่จักขุวิญญาณที่เห็น นี่เราพูดภาษาบาลี แต่ว่าจริงๆ ก็คือสภาพธรรมนั้นเองว่าเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว วิถีจิตขณะแรกยังไม่ใช่ผลของกรรม เพราะเหตุว่าเป็นเพียงเปลี่ยนสภาพที่เป็นภวังค์เป็นจิตที่อาศัยทวาร ถ้าเป็นจักขุทวารก็เป็นจิตนั้นอาศัยจักขุทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบทวาร เพียงแต่รู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร รู้อารมณ์นั้นที่กระทบทวาร แต่ยังไม่เห็น จิตที่เป็นวิถีจิตแรกตามชื่อก็คือ “จักขุทวาราวัชชนจิต” จักขุทวารนั่นเอง แต่จักขุทวารเป็นรูป ไม่ใช่จิต แต่จิตที่สามารถจะรู้รูปที่กระทบจักขุทวาร ภาษาบาลีใช้คำว่า “อาวัชชนะ” ซึ่งโดยคำแปลจะแปลว่า "รำพึงถึง" แต่ภาษาไทยเมื่อใช้คำว่ารำพึงนี่จะคิดยาวมากเลย แต่จริงๆ แล้วชั่วหนึ่งขณะจิตเท่านั้น จึงควรจะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องว่าขณะที่เพียงรู้สึกว่าอารมณ์กระทบทวารนั้น นั่นคือปัญจทวาราวัชชนจิต ยังไม่ใช่ผลของกรรม เพราะว่าขณะนั้นเป็นกิริยาจิต และยังไม่ได้ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ซึ่งเป็นเจตสิก ๖ ซึ่งเป็นเหตุ

    เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตขณะนั้นไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย เพราะขณะนั้นเป็นอเหตุกจิต เริ่มเข้าใจถูกต้องว่าในวันหนึ่งๆ มีทั้งจิตที่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย และไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย และจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ ก็ใช้คำว่า “อเหตุกะ” ซึ่งจะมีอะไรบ้าง ซึ่งตามที่ประมวลไว้ทั้งหมดมี ๑๘ ประเภท เป็นวิบาก คือ ผลของกรรม ๑๕ ประเภท และเป็นกิริยา ๓ ประเภท

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 67


    หมายเลข 6850
    22 ม.ค. 2567