ฟังคำไม่ยาก แต่เข้าถึงความต่างของสภาพธรรมยาก
แม้แต่เพียงที่จะเข้าใจว่านามธรรมกับรูปธรรมในขณะนี้ก็ยากที่จะเข้าใจ ฟังคำนี่ไม่ยากเลยแต่การที่จะเข้าถึงความเข้าใจความต่างของขณะที่เห็นคือกำลังเห็นจริงๆ เดี๋ยวนี้ เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน คือ มีสิ่งที่ปรากฏเป็นรูป และก็มีจิตที่กำลังเห็น คือสิ่งที่จะต้องปลูกฝังเป็นพื้นฐานที่มั่นคง เพราะเมื่อมีโอกาสที่ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่ปัญญาถึงความสมบูรณ์จากที่ได้อบรมความเข้าใจพร้อมสติสัมปชัญญะ สามารถจะเข้าใจทันทีที่ได้ยิน และก็รู้ในความเป็นอนัตตาได้ สามารถจะประจักษ์การเกิดดับได้ นี่ก็แสดงว่าสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาตลอดต้องมีพื้นฐานที่มั่นคงที่จะรู้ว่าธรรมก็คือสิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฏ และความลึกซึ้งทั้งหมดที่ทรงแสดงจากผู้ที่ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นปัญญาของเราจะไม่ถึงขั้นนั้นโดยประการต่างๆ ที่ทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา ๓ ปิฎก แต่เราสามารถที่จะค่อยๆ อบรมความรู้ความเข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อย และก็รู้ความต่างกันของปัญญา ๓ ขั้น คือ ปัญญาขั้นฟัง ฟังเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงๆ แต่ต้องฟังด้วยความเข้าใจจริงๆ ว่ากำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง
ทุกคำที่ได้ยินเพื่อให้เข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริง ปัญญาขั้นไตร่ตรอง ไม่ลืมเพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ เราจะฟังธรรมในขณะที่กำลังฟังจะทางวิทยุ หรือมาที่มูลนิธิ หรือสถานที่หนึ่งที่ใดก็ตามแต่ แต่พ้นจากกาละนั้นแล้วเป็นเรื่องอื่นทั้งหมดเลย แสดงให้เห็นว่าความคิดนึกของเราไปไกลมากจากธรรม ทางใดที่จะทำให้เข้าใจขึ้น โดยวิธีใดก็ตาม เหล่านั้นจะแสดงให้เห็นความต่างของขณะที่เป็นกาละที่ทำให้เราสามารถที่จะอบรมสิ่งที่ประเสริฐสุด คือ ความเข้าใจสิ่งที่มี ซึ่งเวลาที่เราไม่ได้อยู่ที่นี่สิ่งนั้นก็มี มีหมดทุกอย่างแต่ไม่เคยคิด ไม่เคยฟัง ไม่เคยเข้าใจ เพราะฉะนั้นขณะนี้เราก็ต้องทราบว่าเป็นปัญญาขั้นฟัง เป็นปัญญาขั้นไตร่ตรอง แต่ยังมีปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้จะเป็นพื้นฐานที่มั่นคง ที่จะทำให้ปัญญาอีกระดับหนึ่ง คือ สติเป็นสภาพธรรมที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละทาง ซึ่งแต่ละทางนี่ต่างกันหมดเลย
ให้เข้าใจตามความเป็นจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างหนึ่งจริงๆ ดับไปแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางหูจึงจะปรากฏจริงๆ ได้ และก็ต้องดับไปแล้วด้วย สิ่งที่ปรากฏทางจมูกจึงจะปรากฏได้ หรือสิ่งที่ปรากฏทางลิ้นจึงจะปรากฏได้ และสิ่งที่ปรากฏทางกายจึงจะปรากฏได้ และความนึกคิดจึงจะปรากฏซึ่งไม่ใช่ขณะที่คิด ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายในขณะนั้น แต่เป็นเรื่องราวของสิ่งที่คิด นี่ก็เป็นความละเอียดที่หยาบ คือว่ายังผิวเผิน เป็นความละเอียดที่ละเอียดแบบหยาบๆ ยังมีละเอียดลงไปลึกกว่านั้นอีกที่สามารถจะค่อยๆ ปรุงแต่งให้มีความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม นี่คือการศึกษาธรรม นี่คือการเรียนธรรม คือเรียนเพื่อเข้าใจสิ่งที่มี เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ทางตามี เรายังไม่เข้าไปถึงรายละเอียดเลย เพียงแต่ว่าก่อนทีจิตเห็นจะเกิดต้องมีวิถีจิตแรกเกิดก่อน
วิถีจิตแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตรวมเป็น ๕ ทวาร แต่ถ้ากล่าวทีละทวารเฉพาะทางตา ก็เป็น จักขุทวาราวัชชนจิต ขั้นฟังเรารู้เลย นี่คือปัญญาของใคร ไม่มีใครสามารถจะไปรู้จิตขณะแรกของทางจักขุทวารได้เลย แต่รู้ว่ามี และรู้ว่ายังไม่ใช่ผลของกรรมด้วย คือความรู้นี่ต้องละเอียด เราจะไม่พูดลอยๆ ว่ากรรม และผลของกรรม แต่ต้องรู้ว่าจริง กรรมมี ผลของกรรมมี แต่ขณะไหน และจิตอะไร เพื่อที่จะได้มีการเข้าใจชัดเจนในการเป็นอนัตตาซึ่งไม่ใช่เรา แต่สภาพธรรมก็จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ สำหรับเรื่องปัญจทวาราวัชชนจิต เราพูดซ้ำตลอดเวลา คงจะไม่มีใครคิดว่าลืมไปแล้วใช่ไหม
ที่มา ...