วิญญาณขันธ์ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร


    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมมี ๔ ใช่ไหม วิญญาณขันธ์ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง รูปเป็นรูปขันธ์ไม่รู้อารมณ์ เวทนาขันธ์เป็นเจตสิก สัญญาขันธ์เป็นเจตสิก สังขารขันธ์เป็นเจตสิก วิญญาณขันธ์เป็นจิตเป็นสภาพรู้

    อ.วิชัย ขันธ์ใดบ้างที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยได้

    ผู้ฟัง เวทนาได้ สัญญาได้

    ผู้ฟัง สังขารขันธ์ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ภาษาบาลีใช้ชื่อว่าอะไร

    ผู้ฟัง สเหตุกะ

    คุณอุไรวรรณ วิญญาณขันธ์ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ กล่าวถึงเรื่องสเหตุกะ หมายถึงสภาพธรรมที่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยได้ แต่ไม่ใช่พร้อมกันทั้ง ๖ แล้วแต่ว่าจะ๑ เหตุ ๒ เหตุ หรือ ๓ เหตุก็ตาม ซึ่งก็เป็นความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ เพราะเราเรียนเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ แต่ความเข้าใจของเราก็จะต้องชัดเจนด้วย เพราะว่าธรรมไม่เปลี่ยน เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น จากการตรัสรู้ก็ทรงแสดงสภาพธรรมซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก

    "สเหตุกะ" หมายความถึงสภาพธรรมที่สามารถจะมีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยได้ ส่วนสภาพธรรมที่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยก็ได้ มีไหม มี ได้แก่อะไรบ้างที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยได้เลย สภาพธรรมที่ไม่มีเหตุทั้ง ๖ ที่จะสามารถไปเกิดร่วมด้วยได้แน่นอนคือรูปขันธ์อย่างเดียว รูปเท่านั้นที่ไม่สามารถจะมีเหตุหนึ่งเหตุใดเกิดร่วมด้วยตลอดกาลตลอดไป รูปเกิดเมื่อใดจะมีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยไม่ได้

    แต่สำหรับนามธรรม คือ จิต และเจตสิกเป็นสภาพรู้ บางกาละก็มีเหตุเกิดร่วมด้วย บางกาละก็ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย จึงมีทั้งที่เป็นสเหตุกะขณะที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และขณะที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็เป็นอเหตุกะ เพราะฉะนั้น เมื่อถามว่าสภาพธรรมใด ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลยก็อย่างหนึ่ง และสภาพธรรมใดที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ได้ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ยังเหลือสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งด้วยซึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยแน่นอน เพิ่มมาอีกหนึ่ง ประเภทแรกคือ รูป ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ปรมัตถธรรมอีกหนึ่งประเภทซึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยอีกเลย คืออะไร

    ผู้ฟัง นิพพาน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าอย่างไรๆ เราก็ต้องกลับมาที่ปรมัตถธรรม ๔ ไม่มีสิ่งใดในโลก นอกโลก เหนือโลกที่ไหนก็ตามที่จะพ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้นทรงแสดงโดยประมวลว่าสภาพธรรมก็จำแนกเป็น ๔ ประเภทคือจิต เจตสิก รูป นิพพาน รูปไม่ใช่สภาพรู้ นิพพานเป็นสภาพรู้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ต้องมั่นคงว่านิพพานไม่ใช่สภาพรู้ ถ้านิพพานเป็นสภาพรู้ นิพพานเป็นจิต หรือนิพพานเป็นเจตสิก แต่เพราะเหตุว่านิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก นิพพานเป็นสภาพรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยก็มี ๒ ประเภท คือรูปกับนิพพาน แต่ทั้ง ๒ ประเภท นี้ต่างกัน ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่ใช่สภาพรู้แล้วจะต้องเหมือนกันหมด เป็นอย่างเดียวกัน แม้ว่าไม่ใช่สภาพรู้ แต่ก็ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ เป็นรูปธรรมประเภทหนึ่ง และก็เป็นนิพพานอีกประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้นนิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป และรูปก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน และจิตก็ไม่ใช่รูป ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน เจตสิกก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน เป็นแต่ละประเภทไป เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ถามอย่างไรก็ตอบได้ใช่ไหม เช่น ถามว่าสภาพธรรมใดไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์อธิบายก็มีรูปกับนิพพานที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย จิต และเจตสิกมีเหตุเกิดร่วมด้วยในปรมัตถธรรม ๔

    ท่านอาจารย์ ก็จะขยายความเข้าใจของเราได้ ว่าจิต และเจตสิกเป็นสภาพรู้ เมื่อจิตต้องเกิดกับเจตสิก และเจตสิกต้องเกิดกับจิต เพราะฉะนั้นโลภะเป็นเจตสิก โทสะเป็นเจตสิก โมหะเป็นเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นเจตสิก จะไปเกิดร่วมกับอย่างอื่นไม่ได้เลยทั้งสิ้น จะเกิดได้ก็เฉพาะกับจิตเท่านั้น เจตสิกทั้งหมดจะไปเกิดกับรูปไม่ได้ เกิดกับนิพพานไม่ได้ แต่เกิดกับจิตได้ ด้วยเหตุนี้โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ จึงต้องเกิดกับจิต และขณะใดที่จิตนั้นมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เพราะว่าจิตเกิดขึ้น๑ขณะจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียงอย่างเดียวไม่ได้เลย อย่างน้อยที่สุดมี ๗ ประเภท ฉะนั้นเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับเหตุก็เป็นสเหตุกะด้วยเพราะว่ามีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 78


    หมายเลข 7073
    22 ม.ค. 2567