จิตที่จำแนกโดยเหตุ ๒ อย่าง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทั้งวันจึงมีจิตจำแนกโดยเหตุเป็น ๒ อย่าง คือ จิตที่มีเหตุเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วย อาจจะเป็น ๑ เหตุ ๒ เหตุ หรือ ๓ เหตุก็ได้ แม้เพียงเหตุเดียวก็มีจิตที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “สเหตุกะ” ส่วนจิตที่ไม่มีเหตุเกิดเริ่มด้วยเลยเป็น “อเหตุกะ” เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ จะมีทั้งอเหตุกจิต และสเหตุกจิต ซึ่งต่อไปเราจะได้เห็นความสำคัญของจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย แต่สำหรับจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็เป็นเพียงผลของกรรมที่ทำให้ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่เป็นส่วนใหญ่ในวันหนึ่งๆ ไม่กล่าวโดยปลีกย่อยถึงกิจซึ่งเป็นวิบากด้วย เพราะฉะนั้นจึงทราบได้ว่าเมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว จิตอื่นเกิดไม่ได้เลยโดยอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย
นี่คือการศึกษาธรรม ไม่ใช่เราไปคิดว่าทำไมไม่เป็นอย่างนี้ หรือทำไมไม่เป็นอย่างนั้น นั่นคือความคิดของเรา โดยที่ไม่เข้าใจว่าธรรมเป็นธรรม ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี่ก็คือคำตอบที่ว่าเมื่ออารมณ์กระทบแล้วทำไมจึงไม่เห็นทันที ไม่ได้ยินทันที แต่ต้องมีอเหตุกจิตซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุเลย แต่ว่าไม่ใช่ผลด้วย ไม่ใช่วิบากด้วย เพราะสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทวาร เป็นกิริยาจิตซึ่งทุกคนมีก่อนจิตเห็น ก่อนจิตได้ยิน ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะแต่มนุษย์ เห็นเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ ประเทศไหน ดินแดนไหน ในนรก เปรต อสูรกาย อย่างไรก็ตาม ก่อนจิตเห็นจะเกิดต้องมีจักขุทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก และก่อนนั้นต้องเป็นภวังคุปัจเฉทะเป็นภวังค์ขณะสุดท้าย และก่อนนั้นก็ต้องมีภวังค์ก่อนที่จะเป็นภวังค์ขณะสุดท้าย ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ความเข้าใจนี้เราก็จะไม่หลงลืม และเกื้อกูลให้เห็นว่าเป็นธรรมจริงๆ ซึ่งไม่ใช่ทางที่จะทำให้เราไปเข้าใจว่าเป็นเราได้เลยถ้ามีความเข้าใจจริงๆ
อ.กุลวิไล ที่กล่าวว่า "จิตนิยาม" เป็นธรรมเนียมของจิต อันนี้จะเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
ท่านอาจารย์ ต้องเกี่ยวข้องกัน เพราะว่าเป็นเรื่องของสมนันตรปัจจัยนั่นเอง และปัจจัยอื่นๆ ด้วย
ที่มา ...