ความคุ้นเคยในสภาพธรรมไม่ใช่การเหมาเอา


    ผู้ฟัง คำถามที่เกี่ยวข้องกับความคุ้นเคย แล้วก็เห็นได้ว่าไม่ใช่เราเลย มองดูแล้วเหมือนกับเป็นการเหมาเอา หรือสรุปเอา เป็นความคุ้นเคยจนกระทั่งเห็นได้ว่าไม่ใช่เรา คงจะไม่ใช่เหมาเอาหรือด่วนตัดสินไปว่านี่เป็นความคุ้นเคย แล้วก็รู้ว่านี่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่สิ่งของ ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิดนั่นคือเหมา รู้เลยว่าเหมาแล้ว ว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรม เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่เวลาใดที่สติสัมปชัญญะเกิดจะรู้ได้เลยว่ายังไม่คุ้นเคยกับลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม เพียงแต่ว่ารู้ว่าต่างกัน ขณะที่หลงลืมสติต่างกับขณะที่สติเกิด นี่เป็นขั้นแรก

    ผู้ฟัง คือเราจะหลีกเลี่ยงการเหมาเอาในช่วงต้นๆ คงจะไม่ได้ เพราะว่าเรายังไม่มีความเข้าใจ เรายังมีสภาพธรรมก็คือโลภะเกิดขึ้นต้องการที่จะให้มีปัญญาอยู่เสมอ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าบางคนเหมาว่ารู้สภาพธรรมแล้ว เหมาเลยใช่ไหม แต่ถ้าฟังแล้วรู้ว่านี่เป็นขั้นฟัง เราก็จะสามารถเข้าใจถูกต้องว่านี่ไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพียงแต่ว่าได้ฟังแล้วก็เริ่มเข้าใจ เพราะฉะนั้นจะต้องมีสติสัมปชัญญะระลึกเมื่อไหร่ นั่นคือการเริ่มที่จะรู้ลักษณะนั้นตามที่ได้ฟัง เพราะว่าเราฟังทำไม เรามาฟังเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เรื่องนามธรรม เรื่องรูปธรรมทำไม เพราะเหตุว่าสิ่งนี้มีจริงๆ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง แม้ว่าการรู้ขั้นฟังมี แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่าไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง เพราะว่าจะยังไม่เห็นความต่างกันของสติที่เกิดกับกุศล ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบที่เป็นสมถะ และขั้นที่กำลังฟังธรรม และขั้นที่เป็นสติปัฏฐาน มิฉะนั้นจะไม่มีคำว่า “สติปัฏฐาน” ในพระไตรปิฎก

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 83


    หมายเลข 7198
    22 ม.ค. 2567