ความต่างของอเหตุกจิต กับ สเหตุกจิต ในชีวิตประจำวัน
ก็เป็นชีวิตประจำวันซึ่งเราไม่เคยทราบความต่างของจิตในวันหนึ่งๆ ว่าบางครั้งก็เป็นอเหตุกจิต บางครั้งก็เป็นสเหตุกจิต ความต่างก็คือว่าถ้าเป็นอเหตุกจิตก็ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้นลักษณะสภาพของจิตย่อมต่างกับจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย สำหรับเหตุคืออกุศลเหตุ ๓ คือโลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ เราก็จะเห็นได้จริงๆ ว่าอกุศลทั้งหลายที่มีในวันนี้ซึ่งมากตั้งแต่ลืมตามา ก็คงจะมีผู้ที่รู้ว่าขณะใดที่ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้เข้าใจธรรม ไม่ได้เป็นไปในเรื่องการกุศล ไม่มีแม้แต่การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือการให้สิ่งเล็กๆ น้อยๆ กับใครก็ตามขณะนั้นก็เป็นอกุศลซึ่งขณะนั้นเราจะไม่รู้เลยว่าที่อกุศลมีได้ก็เพราะมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเหตุนั้นก็เป็นเหตุของอกุศลที่จะทำให้จิตขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทต่างๆ แล้วก็เจริญงอกงามด้วยความที่เป็นเหตุที่มั่นคง เพราะเหตุว่าเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นกับจิตนั้นก็จะทำให้จิตนั้นสามารถที่จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการกระทำต่างๆ ที่เป็นไปในทางฝ่ายอกุศลในชีวิตประจำวันตั้งแต่ธรรมดาจนกระทั่งถ้ามีมากก็จะเป็นเหตุให้กระทำทุจริตกรรม ซึ่งผลก็ย่อมตามมาเป็นอกุศลวิบากจิต เพราะฉะนั้นผลก็คือจิต ในเมื่อเหตุก็คือจิต และเจตสิก แต่ว่าเจตสิกซึ่งเป็นเหตุนั้นได้แก่เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรม แต่ต้องมีอกุศลเจตสิกคือโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ ซึ่งถ้าขณะใดที่เป็นความติดข้อง ขณะนั้นก็มีทั้งโลภเจตสิก และโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะใดที่เป็นโทสะเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้น ถ้าทราบตัวเหตุ ซึ่งได้แก่อกุศลเหตุ ๓ ก็จะรู้จักตัวของเราชัดเจนขึ้น ขณะใดกำลังมีอกุศล แต่ต้องเป็นปัญญาจึงสามารถที่จะรู้ได้ ขณะนั้นไม่มีที่พึ่ง เราจะพึ่งอกุศลพึ่งไม่ได้เลย สมบัติที่มีก็สูญหายไป ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงก็ป่วยไข้ได้เจ็บ ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นเป็นผลของอกุศลกรรมเพราะเหตุ คืออกุศลจิตได้มีแล้ว การศึกษาธรรมก็คือให้รู้จักเหตุกับผล และก็สภาพธรรมที่มีจริงๆ และสามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะใดเป็นจิตที่เป็นผลที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ และขณะใดเป็นจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน
ที่มา ...