ถ้าเข้าใจแล้วไม่จำเป็นต้องจำ
มีหลายท่านซึ่งได้เคยศึกษาธรรมมาแล้วในอดีต ท่านก็บอกว่าท่านจำไม่ได้แน่ๆ เลย ชื่อภาษาบาลีต่างๆ ถ้าเข้าใจแล้วไม่จำเป็น เช่น ขณะนี้มีจิตเห็น ใครจะไปรู้ถึงผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก มนสิการเจตสิก ที่เกิดกับจิตชั่วขณะที่เห็น เมื่อไม่รู้ แต่ทราบว่ามี ก็ไม่ต้องไปจำชื่อให้ได้หมด แต่ค่อยๆ ให้มีความเข้าใจที่จะพิจารณาว่า มีจริงหรือไม่ เช่น ความรู้สึก เราจะรู้สึกหลังจากที่เห็น เวลาที่เห็นจริงๆ สั้นมาก เล็กน้อยนิดเดียวดับแล้ว เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับแล้ว ต้องใช้คำว่าหมดแล้วไม่กลับมาอีกเลยอย่างรวดเร็วมาก แต่สิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏ และก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้มีการระลึกได้ที่จะเข้าใจลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่ต้องไปนับเลยว่ากี่ขณะผ่านไปแล้ว และขณะนี้เป็นอะไรทางทวารไหน ทางปัญจทวาร มโนทวาร ไม่ใช่คิดอย่างนั้น แต่หมายความว่าให้รู้ความต่างกันของขณะที่ขั้นฟังกำลังมีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจแน่นอน เพื่อที่จะได้รู้ว่ากี่ภพกี่ชาติที่ได้ฟังธรรม จุดประสงค์คือเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่อย่างอื่นเลย และต้องตรงตามความจริงนั้นๆ ด้วย
เพราะฉะนั้นจึงเพียรที่จะฟังแล้วฟังอีก ให้รู้ว่าเรากำลังเข้าใจเรื่อง ค่อยๆ เริ่มเข้าใจเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ แต่ยังมีอีกมากนักที่ปัญญาจะต้องถึงการที่สามารถประจักษ์ความจริงตรงตามที่ได้เข้าใจด้วย ฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ไม่ประมาท และก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่ฟังด้วยความหนักใจ ว่า เรายังไม่รู้นั่น เรายังจำนี่ไม่ได้ ไม่ต้องหนักใจเลย ทุกครั้งที่ฟัง คือให้เห็นความจริงว่า นี่คือสิ่งที่ยังไม่รู้ ฟังเพื่อรู้ และก็ฟังไปเพื่อจะถึงการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้น และผลก็คือว่า ท่านที่คิดว่าท่านจะไม่จำเลย ท่านก็จำได้ หลายคนท่านก็บอกว่าภาษาบาลีท่านไม่รู้เลย แม้แต่คำว่าเจตสิกก็ยากแสนยากสำหรับท่าน และท่านก็บอกว่าท่านไม่ได้สะสมอุปนิสัยในเรื่องภาษาเลย ท่านอาจจะสะสมอุปนิสัยในเรื่องศิลปะ ในเรื่องดนตรี หรือในเรื่องอย่างอื่น แต่ไม่สะสมในเรื่องภาษา เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรสำหรับท่านนอกจากภาษาที่ท่านเกิดมาแล้ว ท่านรู้สึกว่าแสนยาก และไม่สามารถที่จะจำได้ แต่พอท่านฟังไปนานๆ ท่านก็พูดตาม จากคำว่าไม่รู้อะไรเลย ท่านก็มีคำว่า “นามธรรม” มีคำว่า “รูปธรรม” มีคำว่า “เจตสิก” และฟังต่อไปก็มีคำว่า “ผัสสะ” “เวทนา” “สัญญา” ก็เป็นเรื่องซึ่งปกติที่ฟังแล้วมีความเข้าใจ แล้วไม่ต้องไปฝืนบังคับที่คิดว่าจะต้องไปจำ
ขณะนี้ถ้าถามว่าเจตสิก ๕๒ ใครจะลำดับได้ทั้งหมด คงต้องใช้เวลาพอสมควรใช่ไหม หรือมีใครที่คล่องมากสามารถที่จะพูดถึงเจตสิก ๕๒ ได้ แต่ถ้าพูดโดยไม่เข้าใจจะมีประโยชน์ไหม เพราะว่ามีผู้ที่จำ จำเก่ง จำได้ แต่ไม่เข้าถึงอรรถของคำที่ได้ยินได้ฟังว่าหมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เช่นคำว่า “อวิชชา” "วิชชา" แปลว่า รู้ "อะ" แปลว่า ไม่ เพราะฉะนั้นอวิชชาก็ไม่รู้ และก็มีศัพท์อีกหลายคำซึ่งแสดงถึงอรรถลักษณะความหมายของอวิชชาความไม่รู้เช่นความหลง และจริงๆ แล้วถ้าไปนั่งนึกถึงคำอีกมากมายกับการที่เรารู้เพียงคำเดียวว่าอวิชชาคือไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะชื่ออะไรก็ตามแต่ หลงจริงเพราะเหตุว่าไม่รู้ หลงว่าเป็นคน หลงว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริงว่าแท้ที่จริงแล้วก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วเกิดขึ้น แล้วปรากฏต่อสภาพรู้หรือธาตุรู้ซึ่งเป็นจิต และเจตสิก ถ้าไม่มีจิต และเจตสิกในขณะนี้ สิ่งใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย แต่ลืมคิดเพราะว่าฟังน้อยมาก ไม่ได้ฟังบ่อยๆ จนกระทั่งแม่นยำในการมีความรู้ว่าขณะนี้ก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมมากมายหลายลักษณะ ทางตากำลังปรากฏก็เป็นลักษณะหนึ่ง ทางหูแต่ละเสียง ขอให้คิดถึงแต่ละเสียง ไม่ใช่เสียงเดียวเลยก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้น และจากการไม่รู้ก็จะทำให้วันหนึ่งๆ เราจำในสิ่งซึ่งเป็นอัตตาคือจำว่าเป็นเรา จำว่าเป็นตัวตน จำว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ ขณะนี้ก็จำแล้วใช่ไหม จำหมดทุกอย่างในห้องนี้เลย ทะเลภาพกับทะเลชื่ออยู่อย่างนี้ในสังสารวัฏฏ์วันหนึ่งๆ จนกว่าจะถึงขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไหร่ เพราะฟังแล้วก็รู้ว่า แท้จริงเป็นธรรมมีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏด้วย ขณะใดที่มีการค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละอย่างแต่ยังไม่ถึงกับรวดเร็ว แต่ก็จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด โดยที่ไม่ต้องไปจำชื่อ ฉะนั้นใครที่จำไม่ได้หรือคิดว่ายากก็ไม่ต้องกังวลเลย ฟังให้เข้าใจ เพราะเหตุว่าการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจเป็นขณะที่เบาสบาย พ้นจากความไม่รู้ พ้นจากความหนักที่ไม่รู้เลย ว่าแท้ที่จริงแล้วก็หลงอยู่ในความไม่รู้แสนนาน
ผู้ที่จำไม่ได้ จึงไม่ต้องกังวล แต่ให้เข้าใจความต่างเรื่อยๆ เช่นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย ต้องต่างกับจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าจะต่างโดยชาติ จะต่างโดยเวทนา (ความรู้สึก) จะต่างโดยธรรมที่เกิดร่วมด้วย จะต่างโดยประเภทอีกหลายอย่าง
ที่มา ...