ทบทวนเรื่องชวนจิต


    สำหรับวันนี้ก็ขอทบทวนเรื่องชวนจิต เพราะเหตุว่าจะใช้คำนี้กันบ่อยมาก คือ ชวนะ แต่ผู้ฟังจะมีความเข้าใจแม่นยำถูกต้องหรือไม่ คือ ไม่ลืมในเรื่องของชวนะ หรือได้ยินคำว่าชวนะไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าชวนะนี่คืออะไร เมื่อพูดถึงกุศลจิตเข้าใจใช่ไหม อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต จิตเห็น จิตได้ยินพวกนี้เข้าใจ แต่เมื่อกล่าวถึงชวนะมาจากไหน

    ถ้าได้ยินคำว่า สัมปฏิจฉันนะ รู้ว่ามีจิตที่ทำสัมปฏิจฉันนกิจ แล้วก็เรียกชื่อตามกิจว่า สัมปฏิจฉันนจิต ไม่สงสัยเลยชื่อกับกิจตรงกัน เมื่อถึงสันตีรณจิตก็ทำกิจพิจารณาอารมณ์ด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อใช้คำนี้ก็เรียกชื่อตามกิจนี้ว่าสันตีรณกิจก็เข้าใจ เมื่อพูดถึงจิตเราจะพูดได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือพูดโดยกิจ เรียกชื่อจิตตามกิจ เช่นถ้าทราบว่าจิตทุกขณะที่เกิดขึ้นต้องทำกิจหนึ่ง จะไม่ทำกิจใดๆ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น จะไม่มีจิตสักขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทำกิจอะไร ถ้าใครคิดว่ามี หมายความว่าไม่รู้ว่าจิตขณะนั้นทำกิจอะไร แต่ถ้ารู้ก็สามารถที่จะบอกได้ว่าจิตนั้นทำกิจอะไร ฉะนั้นขณะนี้มีจิตที่เรารู้จักชื่อว่า จักขุวิญญาณ วิญญาณ คือ รู้ จักขุ คือ ตา รู้โดยอาศัยตา ต้องอาศัยตาจึงจะเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาได้ จิตนั้นก็เป็นจักขุวิญญาณทำทัสสนกิจ

    เพราะว่าจิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำกิจการงานตลอด ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติภูมิไหนก็ตาม ก็มีกิจ ๑๔ กิจ ๑๔ กิจนี้ไม่ยากเลย แต่ต้องให้ทราบว่าเรากล่าวถึงจิตโดยกิจที่เราจะเข้าใจคำว่า ชวนะ เพราะเหตุว่ากิจแรกคือ ปฏิสนธิกิจต้องมีแน่นอน เมื่อปฏิสนธิดับไปแล้ว กิจที่สองคืออะไร จุติได้ไหม ไม่ได้ เกิดมาแล้ว ตายทันที ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วจะเป็นปัจจัยให้จุติจิตเกิดทันทีไม่ได้ ต้องมีภวังคจิตเกิดสืบต่อ เรียกชื่อตามกิจคือ ภวังคจิต แต่จิตที่ทำกิจภวังค์ต้องแล้วแต่ว่าปฏิสนธิจิตด้วยวิบากประเภทใด จิตประเภทนั้นก็ทำภวังคกิจสืบต่อจากปฏิสนธิจิตในภพหนึ่งชาติหนึ่งเปลี่ยนไม่ได้เลย เช่นการเกิดในอบายภูมิ เกิดเป็นนก ปู ปลา เต่า เกิดในนรก เป็นเปรต อสูรกายอะไรก็ตาม เป็นผลของอกุศลกรรม ต้องเป็นอกุศลวิบากจิตที่ทำปฏิสนธิกิจ เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากจิตทั้งหมดมีน้อยมากเพียง ๗ เท่านั้น

    เพราะฉะนั้นจิตที่ทำปฏิสนธิในอบายภูมิเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น ก็ได้แก่อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำกิจนี้ดับไปแล้ว ชื่อว่าปฏิสนธิจิตก็ได้ อาจจะใช้คำว่าอเหตุกปฏิสนธิก็ได้ และถ้าจะให้ชัดขึ้นอีกก็อเหตุกอกุศลวิบากก็ได้ คือแล้วแต่ว่าเรามีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราเข้าใจมากเราก็พูดสั้นๆ ถ้าจะขยายต่อไปให้รู้ว่าเป็นประเภทของอกุศลวิบากก็บอกว่าอกุศลวิบากปฏิสนธิก็ได้ เมื่อเป็นภวังค์ก็เช่นเดียวกัน ก็คืออเหตุกสันตีรณอกุศลวิบากที่ทำปฏิสนธิกิจที่ดับไปแล้ว ดับไปเพราะกรรมทำให้เกิด เกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นกรรมไม่ได้ทำให้เพียงแต่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นผลของอกุศลกรรมเพียงขณะเดียว ถึงแม้ว่าทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นอกุศลวิบากดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ยังทำให้อกุศลวิบากเกิดสืบต่อทำภวังคกิจ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าภวังคจิตมีทั้งหมดเท่าไหร่ ไม่ใช่มีหนึ่ง เพราะการเกิดในที่ต่างๆ บนสวรรค์ก็มี เป็นพรหมบุคคลในพรหมโลกก็มี

    ปฏิสนธิจิตทั้งหมดมี ๑๙ ประเภท แต่ยังไม่ต้องไปคิดถึงเลยว่าอะไรบ้าง เพียงแต่ให้ทราบว่าทำไมเป็น ๑๙ เพราะว่าเป็นวิบากจิตที่สามารถทำปฏิสนธิกิจได้ จะได้ชัดเจนในเรื่องของกิจ เช่นการที่กล่าวถึงคำว่า ชวนะ ก็หมายถึงกิจของจิตนั่นเอง กล่าวถึงปฏิสนธิจิตก็ไม่ใช่เพียงหนึ่ง เพราะจะมีอกุศลวิบากที่ทำปฏิสนธิจิตได้จึงเรียกว่าปฏิสนธิจิต เมื่อกล่าวถึงภวังคจิตก็หมายความถึงวิบากจิต ซึ่งสามารถทำภวังคกิจได้จึงเรียกว่าภวังคจิต จักขุวิญญาณ (จิตเห็น) ทำภวังคกิจได้ไหม ไม่ได้ ไม่มีโอกาสที่จักขุวิญญาณจะทำภวังคกิจ แต่ถ้าทราบโดยประเภทของจิต ก็จะทราบภายหลังว่าจิตบางประเภททำได้กิจเดียว บางประเภททำได้ ๒ กิจ บางประเภทก็ทำได้ ๓ กิจ บางประเภทก็ทำได้ ๔ กิจ และที่ทำได้ ๕ กิจก็มี เราจึงสามารถเรียกชื่อจิตตามกิจ แล้วแต่ว่าจะกล่าวโดยกิจ หรือจะกล่าวโดยประเภทของชาติ หรือจะกล่าวโดยประเภทของเหตุก็ได้ ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว ๒ กิจ

    มีจิตอีกประเภทที่เกิดก่อนจิตเห็น คือ อาวัชชนจิต เกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวารได้ทั้ง ๕ ทวาร เป็นจิตประเภทที่สามารถจะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ อารมณ์ และเป็นวิถีจิตแรก แต่ไม่ใช่วิบากจิต เพราะยังไม่ใช่เป็นผลของกรรม แต่เกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจเป็นวิถีจิตแรก เป็น ๓ กิจ แล้วก็นับจุติจิตรวมอีกหนึ่งเป็น ๔ เหลือแค่ ๑๐ ซึ่งก็ได้แก่ ทัสสนกิจ ๑ (กิจเห็น) สวนกิจ ๑ (กิจได้ยิน) ฆายนกิจ ๑ (กิจได้กลิ่น) สายนกิจ ๑ คือ จิตที่ลิ้มรส ต้องไม่ปนกับคำว่า รสะ เพราะ รสะ หมายถึงรส แต่กิจนี้เป็นสายนกิจทำกิจลิ้มรส ส่วนกิจที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสคือ ผุสสนกิจ ๑

    เพราะฉะนั้นเรื่องชื่อจะจำก็ได้ จำแล้วลืมก็ได้ จำแล้วคิดออกก็ได้ จำแล้วคิดไม่ออกก็ได้ แต่ให้เข้าใจความหมายเพราะว่าถ้าเราไม่คุ้นกับภาษาบาลี แล้วไม่ได้ใช้บ่อยๆ แล้วก็อาจจะมีการสับสนปนกันได้ แต่ผู้ที่จำได้แม่นยำก็จำได้ เช่น เมื่อครู่ ก็มีท่านที่ตอบว่า เวลาที่รู้โผฏฐัพพารมณ์ทางกายทวาร จิตที่ทำกิจนั้นทำกิจรู้โผฏฐัพพารมณ์ชื่อว่าผุสสนกิจ คุ้นไหมชื่อนี้ ไม่คุ้น บ่อยๆ จำได้ นานๆ เข้าก็อาจจะลืมได้

    ดังนั้น วันนี้ ก็ได้ศึกษา กิจของจิต ได้แก่ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ อาวัชชนกิจ ทัสสนกิจ สวนกิจ ฆายนกิจ สายนกิจ ผุสสนกิจ สัมปฏิจฉันนกิจ สันตีรณกิจ โวฏฐัพพนกิจ ชวนกิจ ซึ่งได้แก่กุศลจิตหรืออกุศลจิตสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และกิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ และโลกุตตรจิตทั้ง ๘ ก็แสดงให้เห็นว่าจิตเหล่านี้ไม่ได้ทำกิจอื่นที่กล่าวมาแล้วเลย แต่ว่าทำกิจ “ชวนะ” เพราะเหตุว่าแล่นไปในอารมณ์ ไม่ต้องมีทัศนะ ไม่ต้องมีสวนะ ไม่ต้องมีสัมปฏิจฉันนะ ไม่ต้องมีจิตอื่นซึ่งได้กระทำแล้วอีก แต่แล่นไปในอารมณ์นั้นด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต ด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ หรือด้วยกุศล ซึ่งกุศลนี้ก็มีตั้งแต่ระดับขั้นของกามาวจรกุศล ถ้าเรียกย่อๆ ก็ใช้คำว่า "กามกุศล" หรือจะใช้คำว่า “กามชวนะ” ก็ได้ ก็หมายความว่าขณะนั้นเป็นชวนจิตที่เป็นประเภทของกามาวจรจิตที่ทำชวนกิจ เรียกย่อๆ ว่า กามชวนะ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 84

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85


    หมายเลข 7220
    20 ม.ค. 2567