ปฏิสนธิจิต กับ การสะสม


    ผู้ฟัง ที่สนทนาเรื่องผลของกรรมซึ่งจะทำให้เกิดปฏิสนธิจิต นี่หนึ่งประเด็นซึ่งทุกคนก็เข้าใจแล้ว ประเด็นที่สองก็คือการสะสม เรียนถามว่าเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร ๒ อย่างนี้

    ผู้ฟัง ตามที่สนทนาเรื่องผลของกรรมซึ่งจะทำให้เกิดปฏิสนธิจิต หนึ่งประเด็นนี้ซึ่งทุกคนก็เข้าใจแล้ว ส่วนประเด็นที่สองก็คือการสะสม ขอถามว่า ๒ ประเด็นนี้เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร เพราะบางคนอาจจะสะสมมาด้วยจิตนี้ ปฏิสนธิมาด้วยเหตุ ๒ เหตุ แต่เขามีการสะสมมาที่จะใฝ่รู้ใฝ่เรียนในเรื่องธรรม คือ คาบเส้นกันระหว่างปฏิสนธิจิตกับการสะสม จึงขอให้อาจารย์ชี้ชัดออกมาว่า เรื่องปฏิสนธิจิต เรารู้ตามเท่านั้น เพราะเราไม่สามารถรู้ได้จริง ส่วนการสะสมเขาอยู่ตรงไหน มีอะไรเนื่องกันกับปฏิสนธิจิตหรือไม่

    ท่านอาจารย์ จากชีวิตประจำวันก็คงจะทำให้พิจารณาเข้าใจได้ วันนี้ตั้งแต่เช้ามาถึงขณะนี้ เรามีการฟังธรรมมาโดยตลอด เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ หรือว่าน้อยกว่าขณะที่เรารับประทานอาหาร แต่งตัว เพลิดเพลิน อย่างไหนจะมากกว่ากัน หรือขณะที่ให้ทาน หรือช่วยเหลือบุคคลอื่น ขณะนั้นก็เป็นกุศล น้อยหรือมาก กับขณะที่ฟังธรรม ก็เป็นชีวิตของแต่ละคนตามความเป็นจริงเป็นปกติ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เวลาที่จะสิ้นชีวิตไม่มีใครที่จะเลือกได้เลยว่าขอให้กรรมที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิกให้ผล คือ ขอให้กรรมที่ได้มาฟังธรรมแล้วเข้าใจให้ผล เพราะเหตุว่าทั้งชาติเรามีกรรมอะไรบ้าง ทั้งที่เป็นกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา แต่ขณะใดที่มีการฟังธรรม มีการเข้าใจธรรม ไม่สูญหายสะสมสืบต่อเป็นอุปนิสัย

    ที่เรากล่าวในภาษาไทยว่าอุปนิสัย ก็มาจาก "อุปนิสสย" คือที่เราได้กระทำมาแล้วเป็นสิ่งที่มีกำลังที่จะทำให้สิ่งนั้นสามารถที่จะเกิดอีก บางคนชอบให้ทานประเภทไหนก็จะให้ทานประเภทนั้น บางคนชอบศึกษาเล่าเรียน ก็ไม่มีใครที่จะยับยั้งความใส่ใจความสนใจที่จะเข้าใจธรรมได้ ก็เป็นเรื่องของชีวิตตามความเป็นจริงแต่ละขณะ ซึ่งเมื่อใกล้จะตาย กรรมหนึ่งเท่านั้นในชาตินี้ก็เลือกไม่ได้เลยว่าจะเป็นกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา หรืออกุศลกรรมจะให้ผล แต่ถ้าเป็นกุศลกรรมให้ผล ก็เลือกไม่ได้อีกว่าจะเป็นกรรมที่เป็นผลของทาน หรือเป็นผลของศีล หรือเป็นกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา อาจจะเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือการเข้าใจธรรม ตรึกนึกถึงธรรมในขณะนั้นก็ได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่กรรมให้ผลทำให้ปฏิสนธิเป็นทวิเหตุกบุคคล คือประกอบด้วยเหตุ ๒ หรือเป็นติเหตุกบุคคล ประกอบด้วยเหตุ ๓ ก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นหลังจากที่เกิดแล้ว ความเป็นไปในระหว่างที่ยังไม่ตายของแต่ละชีวิต เป็นไปตามปัจจัยที่ได้สะสมมาแล้วทั้งนั้น แม้แต่การจะเห็น การที่จะได้ยิน ชีวิตวันหนึ่งจะขึ้นหรือลง จะเปลี่ยนแปลงเป็นสุขหรือทุกข์ ก็แล้วแต่กรรมใดถึงกาละที่สุกงอมพร้อมที่จะให้วิบากจิตนั้นๆ เกิดขึ้นก็ต้องเกิด และการที่ได้สะสมความเข้าใจธรรม ความสนใจธรรม การได้ฟังธรรมก็สะสมสืบต่อมา แม้ว่าเราจะได้ฟังธรรมไม่ถึงขนาดที่ว่าจะประพฤติปฏิบัติตามก็มี หรือบางกาละขณะนั้นก็มีการอบรมเจริญปัญญา หรือประพฤติปฏิบัติตามก็มี

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่แต่ละขณะจิตที่เกิดได้ เรารู้ได้แน่นอนว่าเพราะมีปัจจัยที่ได้สะสมมาที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แม้ว่าปฏิสนธิจิตจะเป็นผลของกุศลกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่การสะสมที่ได้สะสมมาแล้วในความสนใจธรรมก็ทำให้เราได้ฟังธรรม แล้วอบรมความรู้ความเข้าใจต่อไป ซึ่งชาติต่อไปก็เหมือนชาตินี้ คือไม่รู้ว่ากรรมใดจะให้ผล จะเป็นอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ แต่การสะสมสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ทั้งกุศล และอกุศลไม่สูญหายเลย ทำให้เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยอุปนิสัยต่างๆ กัน

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 94


    หมายเลข 7450
    21 ม.ค. 2567