เวทนาเจตสิกโดยนัยของเวทนาขันธ์
ท่านอาจารย์ คำถามของคุณวิชัยก็เป็นนัยทบทวนเรื่องของขันธ์ เมื่อกล่าวถึงปรมัตถ์ เราก็จำได้ว่ามีจิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่ความหลากหลายของจิต เจตสิก และรูปมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นที่ถามเมื่อครู่นี้ก็แสดงให้เห็นถึงว่า พิจารณาโดยนัยของความเกิดขึ้นเป็นอย่างหนึ่งซึ่งจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และเมื่อเกิดแล้วเพราะมีปัจจัยก็ดับไปเลยไม่กลับมาอีกเลย นี่ก็เป็นลักษณะของธรรมที่เป็นขันธ์ มีการปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เช่น เวทนา บางกาละก็เป็นสุขเวทนา บางกาละก็เป็นทุกขเวทนา นั่นคือความหลากหลายของขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอะไรก็ตามแต่ก็คือ "เวทนาขันธ์" ไม่เป็นอย่างอื่น ซึ่งโดยสภาวะปรมัตถ์ ถ้าถามถึงปรมัตถ์ก็เป็นเวทนาเจตสิก ถ้าโดยนัยของขันธ์ ซึ่งเข้าใจแล้วว่าสภาพธรรมที่เราคิดว่ามีอยู่ตลอดเวลา ความจริงเป็นชั่วขณะที่เกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย
เพราะฉะนั้น ลักษณะอย่างนั้นไม่มีทางที่จะเป็นแบบเก่า แต่ใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะเหตุว่าดับแล้ว ก็คือว่าพ้นจากภังคขณะก็ไม่มีทางที่จะเป็นสิ่งนั้นต่อไปอีกได้ แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมที่เป็นรูปบ้าง จิตบ้าง เจตสิกบ้างเกิดขึ้น เมื่อจำแนกเป็นรูปขันธ์ต่างๆ ก็คือ "รูปขันธ์" เวทนาต่างๆ ก็เป็น "เวทนาขันธ์" สัญญาความจำ จำเสียงก็มี จำสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี จำรสต่างๆ ก็มี ก็เป็น "สัญญาขันธ์" ที่จำ แม้ว่าจะหลากหลาย รวมทั้งเจตสิกอื่นๆ อีก ๕๐ ประเภทก็เป็น "สังขารขันธ์" สำหรับจิตเป็น "วิญญาณขันธ์" ที่กำลังเห็นขณะนี้เป็นจิตเก่าหรือไม่ ไม่ใช่เลย นี่ก็คือเมื่อเข้าใจปรมัตถธรรม ก็รู้ไปถึงความเป็นจริงของปรมัตถธรรมนั้นๆ ว่าเพียงเกิดขึ้นแล้วดับไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย
ที่มา ...