ขณะไหนจึงจะพอรู้ตัวว่าเป็นเวทนาประเภทไหน
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน มีขณะไหนที่พอจะรู้ตัวว่าเป็นลักษณะเวทนาประเภทใด เพราะว่าโดยทั่วไปก็จะเป็นลักษณะเป็นการคิดนึก
ท่านอาจารย์ ธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ แล้วก็จะได้ทราบว่าความเข้าใจของเราค่อยๆ เพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้นอย่างไร ตามที่บอกว่าเป็นชื่อทั้งหมดเลยนั้นก็จริง แต่ชื่อนั้นแสดงถึงลักษณะที่มีจริงๆ ไม่ใช่ชื่อเปล่าๆ ลอยๆ แต่เป็นชื่อซึ่งบ่งถึงว่าคำที่ได้ยินได้ฟังหมายถึงสภาพธรรมอะไร เช่น ถ้าบอกถึงความรู้สึก เราใช้คำว่าเวทนาในภาษาบาลี ไม่ต้องไปติดคำภาษาบาลีที่จะคิดว่า อาการตึงนี่เป็นทุกขเวทนา หรือเป็นเวทนาอะไร ไม่ต้องนึกถึงคำว่าเวทนาเลย แต่เมื่อเราฟังคำว่า "เวทนา" คำนี้ในภาษาบาลี หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นความรู้สึก ไม่ใช่ความโกรธ แต่เป็นความรู้สึก เวลาที่เกิดความรู้สึกที่กายเรา มีดบาดก็เจ็บ ต้องไปนึกว่าเป็นทุกขเวทนาหรือไม่ ไม่ต้องเลย แต่ฟังว่าเวทนานี่มีจริง เป็นสภาพธรรม ให้เข้าถึงลักษณะที่มีจริงในภาษาอะไรก็ได้ แต่จำเป็นต้องใช้ภาษาบาลี เพราะว่าทรงแสดงพระธรรมเป็นภาษาบาลีเพื่อที่จะให้ไม่คลาดเคลื่อน ทุกชาติก็จะใช้ภาษาที่ตัวเองเข้าใจ แต่ต้องส่องถึงลักษณะจริงๆ ให้เข้าใจถูกว่าลักษณะของความรู้สึกไม่ใช่ลักษณะของ"เห็น" เพราะ"เห็น"ก็ "เห็น" แต่ความรู้สึกนี่ ถ้าเป็นทุกข์ทางกายทุกคนรู้ มี ๑ เวทนาแล้วคือทุกข์กาย นอกจากนี้ก็มีสบายทางกาย อาบน้ำเสร็จสดชื่น รู้ไหม ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เสียใจ น้อยใจ มีจริงไหม นั่นก็เป็นความรู้สึกที่เป็นโทมนัสเวทนา มีจริงๆ โทมนัสเวทนาเป็นภาษาบาลีมาจากคำว่า “ทุ ” กับ “มนัส” ส่องถึงลักษณะที่มีจริงๆ นั่นเอง
ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจว่าทรงแสดงถึงสภาพที่มีจริงให้เราเข้าใจถูก เห็นถูก โดยที่ไม่ต้องไปนึกถึงชื่อว่าภาษาบาลีชื่ออะไร มีคำแน่นอนในภาษาบาลี แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏไม่ต้องย้อนกลับไปหาชื่อ เพราะเหตุว่าถ้าย้อนกลับไปหาชื่อก็คือเรานั่นเอง การที่จะประจักษ์อย่างมั่นคงแม้ขั้นเข้าใจว่า “ไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรม” ความจริงประการนี้ลืมไม่ได้เลย เพราะว่าจะอุปการะให้เราเข้าใจสภาพธรรมถูกต้องว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะ และเวลาที่ดีใจก็มีจริง เสียใจก็มีจริง สุขก็มีจริง ทุกข์ก็มีจริง พอจะรู้ได้ แต่อุเบกขาแสดงไว้ว่าเห็นยาก เพราะละเอียดกว่า ทรงแสดงเวทนาโดยนัยของความหยาบละเอียดก็จะแสดงโดยหลายนัย เช่น อกุศลเวทนาต้องหยาบกว่ากุศลเวทนา และอกุศลเวทนาด้วยกันโทมนัสเวทนาก็ต้องหยาบกว่าเวทนาอื่น นี่ก็ตามความเป็นจริง ซึ่งเราก็พิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวันว่าถ้าพูดถึงความรู้สึก เมื่อบอกว่าเจ็บ รู้ได้ อาการคันก็รู้ได้ หรือเวลาสุขก็รู้ได้ เสียใจก็รู้ได้ ดีใจก็รู้ได้ แต่เมื่อเป็นอุเบกขา แม้ว่าในวันหนึ่งๆ อุเบกขาเวทนาจะมีมากกว่าเวทนาอื่นแต่ก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจธรรมคือตัวธรรมจริงๆ ต้องอาศัยการฟัง การไตร่ตรอง การรู้ประโยชน์ว่าที่ทรงแสดงพระธรรมทั้งหมดเพื่อเกื้อกูลให้เกิดความเห็นถูกว่าไม่ใช่ตัวตนในสิ่งที่มีจริงๆ และก็ไม่ใช่ว่าจะเอาชื่อมาเรียกเมื่อมีสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดปรากฏ แต่สะสมความเข้าใจในความไม่ใช่ตัวตน เช่น ขณะที่ปวด ลักษณะที่ปวดมีจริงกำลังปรากฏ ปกติเราจะนึกถึงเรื่องอื่นไปเลย เป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมด แต่ขณะใดที่กำลังรู้ลักษณะที่ปวด เฉพาะตรงนั้นนิดเดียวก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้นเราไม่ได้คิดเรื่องอื่น เราไม่ได้มีความเห็นผิดร่วมด้วยในขณะนั้น เพราะว่าลักษณะของสภาพปวดก็ปรากฏกับกายวิญญาณคือจิตที่สามารถจะรู้สึกในขณะนั้นว่าความรู้สึกนั้นเป็นความรู้สึกที่ไม่สบาย เป็นเวทนาเจตสิกที่เกิดกับกายวิญญาณ แต่ปัญญาสามารถจะเกิดกับจิตขณะต่อไปที่จะรู้ในลักษณะที่ปวดนั้นก็ได้ หรือรู้ในลักษณะของรูป หรือนามใดๆ ที่ปรากฏ ก็เป็นเรื่องที่เราเข้าใจถูกว่า เราศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรม เพื่อเข้าถึงธรรม ไม่ใช่ไปติดอยู่ที่ชื่อ
ที่มา ...