เหตุใดความรู้สึกปวดศีรษะกินเวลานาน
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน เช่น ปวดศรีษะ ซึ่งเราศึกษามาว่าจิตเกิดดับเร็วมาก แต่ความรู้สึกปวดศรีษะ ครึ่งชั่วโมงก็ยังไม่หาย
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้นั่งที่นี่ เห็นเกินครึ่งชั่วโมงหรือยัง
ผู้ฟัง เกิน
ท่านอาจารย์ จิตเห็นเกิดดับหรือไม่
ผู้ฟัง เกิดดับ
ท่านอาจารย์ เช่นเดียวกันใช่ไหม ดูนาน เห็นนาน เพราะฉะนั้นก็ดูรู้สึกปวดนาน เจ็บนาน แต่ความจริงก็คือจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน โดยที่ความรู้สึกนั้นมีปัจจัยที่ให้เกิดขึ้นเป็นความรู้สึกที่เจ็บ
ผู้ฟัง แต่ว่าจริงๆ แล้วถึงแม้ว่าเราจะศึกษาอย่างไรก็ตาม เราก็มีความรู้สึกว่าถ้าเป็นทุกขเวทนา ไม่ต้องพูดถึงคำว่าทุกขเวทนา แต่พูดถึงความปวด ความเจ็บ
ท่านอาจารย์ แล้วอุเบกขาเวทนาที่เกิดกับจิตเห็น รู้ไหม
ผู้ฟัง เราไม่รู้
ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกันหรือไม่ เพียงแต่ว่าความรู้สึกต่างกัน ในขณะที่เห็นไม่ปวดเจ็บ แต่เฉยๆ นั่งอยู่ที่นี่มาตั้งนาน เห็นเฉยๆ มาตั้งนานก็ไม่รู้ใช่ไหม แต่เมื่อเกิดทุกขเวทนาทางกายปวดเจ็บรู้สึกว่านานเป็นครึ่งชั่วโมง แต่ความจริงเราอยู่ตรงนี้เกินครึ่งชั่วโมง และอุเบกขาเวทนาก็เป็นอุเบกขาเวทนา ไม่ใช่ทุกขเวทนา ซึ่งผัสสะจะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา และก็สืบเนื่องไปถึงการที่มีจิต แล้วก็มีทวาร คือ อายตนะที่จะต้องมีการกระทบกับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตเกิดขึ้นจะรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางหนึ่งทางใด เพราะมีเจตสิกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นสภาพที่กระทบกับอารมณ์ซึ่งเราเลือกไม่ได้เลยว่าจะให้เป็นการกระทบกับความคิดนึกทางใจ เช่น มโนทวาร เพราะเหตุว่าทางตาก็ธรรมดาเมื่อมีสิ่งที่มากระทบกับจักขุปสาทได้ จิตเห็นก็เกิดขึ้นเห็นสิ่งนั้น เมื่อมีเสียงซึ่งกระทบกับโสตปสาทได้ จิตได้ยินก็เกิดขึ้น แต่การที่จิตจะเกิดขึ้นโดยปราศจากผัสสเจตสิกเป็นไปไม่ได้เลย
ผัสสเจตสิกไม่ใช่เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ซึ่งแล้วแต่ว่าผัสสะกระทบอารมณ์ใด จิตจึงรู้แจ้งอารมณ์ที่ผัสสะกระทบ เพราะว่าเจตสิก ๗ ดวงต้องเกิดพร้อมกับจิตซึ่งผัสสะก็เป็นเจตสิกหนึ่งใน ๗ ซึ่งทุกครั้งที่จะมีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์จะปราศจากผัสสเจตสิกไม่ได้เลย อีกเจตสิกหนึ่งก็คือความรู้สึก เพราะว่าเมื่อจิตรู้อารมณ์ เราได้ยินคำว่าเสวย หรืออะไรก็ตามแต่ แต่จริงๆ ก็คือว่า เมื่อมีอารมณ์แล้วต้องมีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดในอารมณ์ที่ปรากฏ จะไม่ให้มีความรู้สึกไม่ได้เลย กั้นไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตที่กำลังรู้อารมณ์ และก็มีความรู้สึกในอารมณ์นั้น ซึ่งผัสสเจตสิกเป็นสภาพที่เพียงกระทบอารมณ์ เพราะว่าถ้าผัสสะซึ่งเป็นเจตสิกไม่เกิด จิตก็จะรู้อารมณ์นั้นไม่ได้เลย ต้องเกิดพร้อมกัน แล้วก็ดับพร้อมกันด้วย แล้วทันทีที่ผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ใด ที่จะยับยั้งไม่ให้มีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดในอารมณ์นั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นผัสสะจึงเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ให้เกิดความรู้สึกในอารมณ์ที่ปรากฏ
จะเห็นได้ว่าที่เราจะใช้คำว่าเสวย หรือไม่เสวย หรืออะไรก็ตาม แต่เมื่อจิตรู้อารมณ์แล้วต้องมีสภาพของเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับจิตนั้น แล้วก็เป็นสภาพที่รู้สึกในอารมณ์นั้นซึ่งจะรู้สึกเฉยๆ ก็ได้ รู้สึกดีใจก็ได้ รู้สึกเสียใจก็ได้ รู้สึกสุขก็ได้ รู้สึกทุกข์ก็ได้ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ แต่สามารถศึกษา ฟัง พิจารณาให้เข้าใจในความไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้น
ที่มา ...