การศึกษาธรรมเพื่อพระธรรมเป็นอย่างไร


    ผู้ฟัง การศึกษาธรรมเพื่อตัวตน เพื่อให้เป็นคนดี เมื่อไม่ดีครั้งใดก็จะโทมนัสทุกครั้งเลย กับอีกประการหนึ่งการศึกษาธรรมเพื่อพระธรรม ขอท่านอาจารย์กรุณาขยายความ ๒ ประโยคนี้

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมต้องทราบ ในครั้งพุทธกาลที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ทรงดับขันธ์ปรินิพพาน ไม่ได้มีแบ่งกลุ่ม แบ่งเป็นคัมภีร์ต่างๆ แต่ว่าทรงแสดงธรรมตามอัธยาศัย เพราะว่าจริงๆ แล้วคนที่ไปฟังพระธรรมสามารถจะเข้าใจธรรมที่มีในขณะนั้นได้ เช่น ในขณะนี้เราพูดถึง "เห็น" มีเห็น ก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของคนฟังในครั้งก่อนกับปัญญาของผู้ฟังในครั้งนี้ สามารถจะเข้าใจธรรมที่"เห็น" ต่างระดับกันหรือไม่ เพราะเหตุว่าสำหรับคนในยุคนี้ไม่คุ้นเคยกับพระธรรมเลย แล้วยังขึ้นอยู่กับการที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วในอดีตมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นก็มีความต่างกันของผู้ที่ฟังว่าบางท่านฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจ แต่บางท่านก็จะงงไปหมดเลย ถ้าได้ยินคำว่า “ธรรม” หรือ “เห็น” ท่านก็อาจจะไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ว่า"เห็น" ขณะนั้น แม้มีแต่ก็ไม่ใช่เราอย่างไร แต่ว่าบางคนก็รู้ว่า"เห็น" กำลังมี เป็นชั่วขณะหนึ่ง จะเป็นเราได้อย่างไร ก็แค่"เห็น"ขณะเดียว แล้วขณะอื่นอีก แสดงว่าเมื่อมีขณะอื่น ขณะเห็นนี้ต้องไม่มี เมื่อขณะเห็นไม่มี เราที่เห็นเมื่อครู่นี้หายไปไหน

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม ฟังด้วยกันแต่สามารถที่จะแตกออกไปได้กี่บท โดยการที่เข้าใจในสิ่งนั้นด้วยการสะสมที่จะเข้าใจสิ่งนั้นแม้พยัญชนะที่ว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” ฉะนั้น การศึกษาในยุคก่อนเป็นผู้ที่ได้สะสมบุญมาในอดีตที่มีโอกาสที่จะได้ฟัง และก็ได้สะสมความเข้าใจ บางท่านเมื่อได้ฟังแล้วก็เป็นพระอริยบุคคล ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเมื่อจบเทศนาเป็นพระโสดาบัน วิสาขามิคารมารดาตอนนั้นอายุ ๗ ขวบไปต้อนรับพระผู้มีพระภาค และก็ได้ฟังพระธรรมจบเป็นพระโสดาบันตอน ๗ ขวบ

    เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของการสะสม เป็นเรื่องของความจริง เป็นเรื่องของความเข้าใจ ถ้าไม่ใช่เข้าใจแล้วต้องฟังอีกจนกว่าจะเข้าใจ นี่คือจุดประสงค์ของการฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจธรรม แต่ถ้าเป็นการศึกษาแบบที่เราศึกษาทางโลก เพราะว่ายุคนี้สมัยนี้เมื่อโตขึ้นมา เราก็เข้าโรงเรียนเรียนหนังสือ วิชาที่เราเรียนจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เรียนเพื่อที่จะรู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน แล้วก็ค้นคว้ากันไปตามรูปแบบซึ่งไม่ใช่การเข้าใจสภาพธรรมว่าไม่ใช่ตัวตนเลยคือไม่ว่าจะเป็นวิชาการใดๆ ทั้งสิ้น วิทยาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ สถาปัตยกรรมหรือการก่อสร้าง การทำอาหารการอะไรทั้งหมด เป็นการศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมโดยที่ไม่รู้ตัวธรรมเลยจริงๆ ไม่รู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูป ซึ่งถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป อะไรๆ ก็ไม่มี แต่เพราะความไม่รู้การศึกษาทางโลกก็จะแบ่งเป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจเรื่องราวที่ได้ศึกษา แล้วก็มีการสอบแล้วก็มีการประเมินต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะคุ้นเคยกับการศึกษาทางโลก แล้วก็ใช้ความคิดอันนั้นมาศึกษาธรรมแบบทางโลก คือ ศึกษาแบบตำรับตำราแล้ว ก็เป็นเรื่องเป็นราวเป็นหมวดเป็นหมู่ แต่ไม่ใช่ศึกษาลักษณะสภาพธรรมด้วยการฟัง และเข้าใจตัวจริงของธรรม ให้รู้ว่าทั้งหมดในพระไตรปิฎกที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา พระอรหันต์ทั้งหลายท่านกระทำสังคายนาเป็นหมวดหมู่ คงไม่ลืมว่าใครเป็นพระอรหันต์ ถ้าท่านไม่รู้ทั่วจริงๆ โดยการประจักษ์แจ้ง ท่านทำสังคายนาไม่ได้ ท่านจะจัดเป็นหมวดหมู่อย่างนี้ไม่ได้ ความรู้ของท่านกว้างขวางมาก เมื่อจะพูดถึงปรมัตถธรรมใดๆ ที่ท่านรู้แล้ว ท่านสามารถที่จะพูดโดยนัยต่างๆ เช่น ธรรมสังคณีเป็นพระอภิธรรม หรือวิภังคปกรณ์ซึ่งได้ขยายสิ่งที่กล่าวแล้วในธรรมสังคณี จนกระทั่งถึงการกล่าวถึงโดยความเป็นธาตุต่างๆ โดยการเป็นบุคคลหรือว่าโดยการถามตอบ หรือโดยการแสดงธรรมที่เข้าใจแล้วเป็นคู่ๆ เพราะท่านเข้าใจกว้างขวางหมดเลย เพราะฉะนั้น เมื่อจะกล่าวถึงสิ่งใดคือสิ่งนั้นท่านเข้าใจแล้ว

    สำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับธรรมเลย ก็จะต้องเริ่มจากการที่ว่าเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาว่าศึกษาเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจธรรม เพื่ออะไร เพื่อละความไม่รู้ เพราะความไม่รู้จึงทำให้เข้าใจผิดเห็นผิด ซึ่งการที่เห็นว่ามีสัตว์ บุคคล มีตัวตน และก็ยังมีความเห็นผิดเรื่องอื่นๆ สืบเนื่องจากความเป็นตัวตนอีกมากมาย นั่นก็แสดงให้เห็นว่าศึกษาเพื่อละความไม่รู้ มีหิริมีโอตตัปปะในความไม่รู้ ไม่ใช่ว่าต้องการรู้อย่างนั้น ต้องการรู้อย่างนี้ ต้องการรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ นั่นคือศึกษาแบบชาวโลก

    เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาธรรมก็คือศึกษาสิ่งที่มี ให้เป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้นเพื่อละคลายความไม่รู้ และก็จะรู้ได้เลยว่าความไม่รู้ของเรา ยิ่งศึกษายิ่งรู้ว่ามากแค่ไหน เพราะฉะนั้นผู้ที่จะกล่าวเรื่องความไม่รู้ได้คือผู้ที่รู้ว่าไม่รู้แค่ไหน แค่เห็นไม่รู้ความจริง เป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งวันจากสิ่งที่เห็นหรือไม่ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ทะเลชื่อ ทะเลภาพ โอฆะ (ห้วงน้ำใหญ่) เพราะว่าขณะนั้นไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏเลย และก็ติดตามไปตลอดในเรื่องชื่อจนกว่าขณะไหนที่สติสัมปชัญญะเกิด เมื่อนั้นรู้ว่าทรงแสดงการฟังทั้งหมดเพื่อให้ถึงกาละที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม และขณะนั้นเองจึงมีธรรมเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง เพราะว่ามีลักษณะของสภาพธรรมที่ให้รู้ให้เข้าใจถูกต้องว่าแม้แต่คำที่กล่าวว่าธรรม ก็มีลักษณะจริงๆ แต่ละลักษณะเมื่อสติสัมปชัญญะระลึกได้ ก็เป็นการศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจธรรม ไม่ใช่ศึกษาอย่างที่เราเคยศึกษาทางโลก เพราะฉะนั้นทางโลกจะศึกษาแบบหนึ่ง และทางธรรมเพื่อจะเป็นการละความไม่รู้

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 96

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97


    หมายเลข 7476
    21 ม.ค. 2567