ลักษณะของอารมณ์ของภวังคจิต ไม่สามารถรู้ได้ -พฐ.98


    ผู้ฟัง ลักษณะของอารมณ์ของภวังคจิต ปฏิสนธิจิต และจุติจิตที่มีอารมณ์เดียวกัน เราจะไม่มีวันที่จะสามารถรู้อารมณ์เหล่านี้ได้เลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร มีเหตุผล ที่เรารู้อารมณ์ เพราะเราอาศัยตาเห็น เมื่อเสียงปรากฏเพราะว่ามีโสตปสาทอาศัยหู ถ้าไม่มีการอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย จะไปรับรู้อะไร ขณะที่เราคิดนึกในชาตินี้ก็จากสิ่งที่เราเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง เราจะคิดนึกแต่ในเรื่องสิ่งที่ปรากฏในโลกนี้ จะไปคิดในขณะที่เป็นภวังค์ คงไม่ได้ ใช่ไหม เป็นไปไม่ได้เลยเพราะเหตุว่าไม่มีทางที่อารมณ์นั้นจะปรากฏ ชาติก่อนเป็นใครจำได้ไหม

    ผู้ฟัง จำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ชาตินี้เกิดแล้วมาจากไหน

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องมาจากจุติจิตของชาติก่อน สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ถ้าจุติจิตขณะใดชาติไหนก็ตามเกิดขึ้น และดับไป จะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง จะกลับมาเป็นคนนั้นอีกไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นขณะนี้เรากำลังรู้จักกัน แต่ก็รู้จักกันไม่นาน ไม่นานอีกหน่อยก็ไม่รู้จักกันแล้วใช่ไหม รู้จักกันเฉพาะชาตินี้จริงๆ แต่ลองคิดถึงว่าชาติก่อนเรารู้จักใครมากมาย แล้วก็ไม่รู้จักกันแล้วฉันใด ชาตินี้เรากำลังมีเพื่อนสนิทพบกันบ่อยๆ ทุกอาทิตย์ทุกเสาร์ อีกไม่นานก็ไม่รู้จักกันแล้ว ไม่รู้จักจริงๆ ว่านั่นใคร ชาติก่อนทำอะไร อยู่ที่ไหน เคยรู้จักกันหรือไม่ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าต้องเข้าใจจุติจิตเป็นขณะสุดท้ายของชาติหนึ่งชาติหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วดับแล้วจะไม่กลับมาสู่ความเป็นบุคคลนั้นอีกเลย แต่ว่าจริงๆ แล้วจิตทุกขณะก็เกิดแล้วดับไปไม่กลับมาอีก ฉะนั้นก่อนที่จะตาย จะต้องมีการเกิดโดยกรรมที่จะเป็นปัจจัยทำให้เมื่อจุติจิตดับแล้วไม่มีระหว่างคั่นเลย ปฏิสนธิจิตจะเกิดสืบต่อทันทีโดยมีกรรมหนึ่งเป็นชนกกรรม คือกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เลือกไม่ได้เลย เหมือนกับที่เราไม่ได้เลือกว่าเราจะเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ แต่ก็เกิดมาเพราะกรรมหนึ่งที่ประมวลสิ่งที่จะเป็นวิบากของชาติต่อไป คือชาตินี้ให้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตก็จะประมวลกรรมทั้งหลายที่ได้กระทำว่าพร้อมที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นวิบากจิตเมื่อไหร่ เมื่อพร้อมด้วยเหตุที่สมควร ฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตของชาตินี้เกิด เอาอะไรมาเป็นอารมณ์ ยังไม่มีการเห็นการได้ยินอะไรเลยทั้งสิ้นใช่ไหม ฉะนั้นก็มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน เพราะจิตใกล้จะจุติของชาติก่อนไม่สามารถที่จะเลือกอารมณ์ได้ เหมือนกับขณะนี้ก็เช่นเดียวกัน คือเมื่อจิตเกิดต้องรู้อารมณ์หนึ่งซึ่งใครก็เลือกไม่ได้ที่จะรู้อารมณ์ไหนทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นในขณะที่ใกล้จะจุติ กรรมก็ทำให้อารมณ์หนึ่งปรากฏกับจิตที่ใกล้จะตาย หรือจะกล่าวว่าชนกกรรมนั่นเองทำให้จิตใกล้จะตายเป็นกุศลหรืออกุศล เศร้าหมองเป็นอกุศล หรือผ่องใสเป็นกุศลที่กำลังรู้อารมณ์ที่ปรากฏที่ใกล้จะตาย ใกล้จะจากโลกนั้นมาแล้ว แต่ว่าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์อะไร แล้วกรรมที่เป็นกุศลก็ทำให้กุศลวิบากปฏิสนธิ ทำให้กุศลจิตเกิดใกล้จะตาย ถ้ากรรมที่เป็นอกุศลจะให้ผลก็คือทำให้จิตใกล้ที่จะจุติคือก่อนที่จะจุติเป็นอกุศล ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็ทำให้จิตใกล้จะจุติเป็นกุศล ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็ทำให้จิตก่อนจะจุติเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากเกิดสืบต่อ เพราะว่ามีจิตใกล้จะจุติเป็นเหตุ ถ้ามีจิตใกล้จะจุติเป็นอกุศลจิต ปฏิสนธิจิตก็เป็นอกุศลวิบาก ถ้าจิตใกล้จะจุติเป็นกุศล ปฏิสนธิจิตก็เป็นกุศลวิบาก และภวังคจิตก็มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจนถึงจุติจิตก็มีอารมณ์เดียวกัน

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 98


    หมายเลข 7560
    21 ม.ค. 2567