ธรรมารมณ์คือสภาพธรรมที่สามารถจะรู้ได้ทางมโนทวาร


    ท่านอาจารย์ ตามที่

    ผู้ฟัง กล่าวว่า ธัมมารมณ์มีจิตใช่ไหม

    ผู้ฟัง ธัมมารมณ์ได้แก่ ๖ อย่าง ได้แก่จิต เจตสิก สุขุมรูป ปสาทรูป ๕ นิพพาน และบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ นี่คือจำ แต่ถ้าเราทราบว่าธัมมารมณ์ คือสภาพธรรมที่สามารถรู้ได้เฉพาะทางมโนทวาร ทวารอื่นไม่สามารถจะรู้ธัมมารมณ์ได้ คือเราไม่ไปจำว่าธัมมารมณ์มีอะไรบ้าง นับไปนับมาให้ครบเท่านั้น แต่ความจริงเราต้องเข้าใจสภาพธรรม เช่น จิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ จิตไม่มีรูปร่างสีสันวัณณะใดๆ เพราะฉะนั้นใครจะไปเห็นจิตทางตานี่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าสภาพธรรมนี้สามารถที่จะรู้ได้ทางใจ ไม่ใช่จะสามารถไปเห็น ไปได้ยินต่างๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้นคำพูดจะแสดงให้เห็นว่าเราไปจำเป็นหมวดเป็นเรื่อง หรือว่าเราเข้าใจว่าสภาพธรรมนั้นไม่สามารถจะรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย "จิต" ไม่สามารถจะเป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณได้เลย

    เพราะฉะนั้นจิตก็เป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ทางใจเท่านั้น ถ้าเราเข้าใจแบบนี้คือเข้าใจตัวธรรมไม่มุ่งไปจำว่าธัมมารมณ์มีกี่อย่าง แล้วก็ตอบได้ เจตสิกก็เช่นเดียวกัน จะไปเห็นเจตสิก จะไปได้กลิ่นเจตสิกเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเจตสิกมีจริงสามารถจะรู้ได้ทางใจ นี่คือให้เข้าใจว่าที่เราคิด ที่เราเข้าใจ ต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ทั้งหมดทุกคำที่เราได้ยินมา ถ้าเราจะพิจารณาก็จะเห็นว่าทำให้เราเห็นความเป็นอนัตตา ถ้าพิจารณาจริงๆ เข้าใจจริงๆ ก็จะทำให้ไม่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราในขั้นการฟัง แต่จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์ลักษณะนั้นจริงๆ เช่น เหตุเป็นปรมัตถธรรมอะไร เหตุ ๖ ก็ต้องเป็นเจตสิก ๖ จะเห็นได้ว่าขณะนี้มีจิตทั้งที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเลย และมีจิตที่ประกอบด้วยเหตุเกิดสืบต่อกันอย่างเร็วจนกระทั่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ ขณะที่ไม่ใช่ภวังคจิต วิถีจิตแรกไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ทางตาจักขุวิญญาณจิตเกิดมีเหตุเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ไม่มี นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจแต่ไม่ใช่ไปจำ เมื่อจักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนะจิตเกิด มีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี เมื่อสัมปฏิจฉันนะจิตดับ สันตีรณะจิตเกิดมีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี เพราะฉะนั้นไม่ว่าปัญจทวาราวัชชนจิตหรือจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะจิค สันตีรณะจิตจะเกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน ภพไหนกับใคร ต้องเป็นจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย แล้วเมื่อสันตีรณะจิตดับแล้ว โวฏฐัพพนะจิตเกิดขึ้นมีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี แต่เปลี่ยนชาติ

    ปัญจทวาราวัชชนจิตขณะแรกเป็นชาติกิริยา ภวังค์จิตเป็นชาติวิบาก แล้วกิริยาจิตเกิดแล้วก็ดับ เมื่อถึงสัมปฏิจฉันนะจิต สันตีรณะจิตที่เกิดต่อก็ยังคงเป็นวิบากอยู่เป็นผลของกรรมที่ทำให้จิตต้องเกิดสืบต่อจากปัญจวิญญาณ เมื่อถึงโวฏฐัพพนะจิตก็เปลี่ยนชาติอีกแล้วใช่ไหม เป็นกิริยาจิตแล้วก็ดับไป ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะจิต สันตีรณะจิต โวฏฐัพพนะจิต แต่หลังจากนั้นแล้วมีเหตุเกิดร่วมด้วย นี่คือแสดงความรวดเร็วว่าจิตที่เราไม่เคยรู้เลย แล้วก็เคยเป็นเรามาตลอดทั้งๆ ที่ไม่รู้ก็เป็นเราด้วยความไม่รู้ แต่ผู้ที่ได้ทรงประจักษ์แจ้งสภาพธรรมก็ได้ทรงแสดงโดยละเอียด เพื่อให้เราเห็นความเป็นอนัตตาว่าไม่มีใครสามารถที่จะไปบังคับบัญชาได้เลยสักขณะเดียว แม้แต่จะเปลี่ยนชาติของจิตก็เปลี่ยนไม่ได้ จะให้มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ ถ้าจิตนั้นไม่มีปัจจัยที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ก็จะเข้าใจว่าวันหนึ่งๆ เกิดมาก็เป็นผลตั้งแต่ปฏิสนธิ และเวลาที่เกิดมาแล้วก็ยังมีผลของกรรมที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หลังจากนั้นแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล นี่จะเป็นสิ่งที่เราจะได้รู้จักตัวเราเพิ่มขึ้นว่าขณะใดเป็นผลของกรรม และขณะใดเป็นเหตุใหม่ที่จะทำให้สะสมเป็นกรรมที่จะทำให้ผลที่เป็นวิบากเกิดขึ้น แสดงถึงความไม่มีเราเลยสักขณะเดียว

    เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องชาติของจิตก็เพื่อให้เข้าใจว่าไม่มีเรา แต่จิตชาติต่างๆ ก็เกิดสลับกัน จากวิบากที่เป็นภวังคจิตก็เป็นกิริยาจิตที่เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต และก็เป็นวิบากที่เป็นจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะจิต สันตีรณะจิต เมื่อถึงโวฏฐัพพนะจิตก็เป็นกิริยาอีก แล้วหลังจากนั้นก็เป็นกุศลจิต และอกุศลจิต ยับยั้งไม่ได้เลย นี่คือชีวิตในสังสารวัฎฎ์ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิด การที่เราเข้าใจว่าเป็นเราเป็นเขา เป็นบุคคลต่างๆ แต่ความจริงก็คือจิตประเภทต่างๆ นั่นเอง

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100


    หมายเลข 7604
    21 ม.ค. 2567