เข้าใจความหมายของคำว่า อบรม


    ผู้ฟัง ขณะที่เกิดอกุศล เราก็บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้าเรารู้สึกอยากมากก็เกิดความรุนแรงมาก เราอยากที่จะไปทำอย่างอื่น ซึ่งรู้สึกว่าได้ผลเร็ว ซึ่งก็ไม่ใช่อีก ทำให้เรารู้อีกว่านั่นก็เป็นธรรมอีก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคำว่าอบรมไม่ใช่คนอื่นต้องมาบอก แต่จากการฟังแล้วรู้ว่าปัญญาขั้นฟังไม่ใช่ปัญญาขั้นที่รู้แจ้ง เพราะฉะนั้นหลังจากที่ฟังแล้วแม้แต่ความคิดถูกตามคลองของธรรมก็ไม่ได้เกิดบ่อย แต่เมื่อฟังแล้วเกิด เราก็รู้ว่านี่เป็นขั้นคิด เรื่องจิตที่เป็นกุศลเป็นอกุศล ทั้งๆ ที่ขณะนี้จิตที่เป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี วิบากก็มี กิริยาก็มีทั้งหมดตามที่เรากล่าวถึงเมื่อครู่นี้ เพราะฉะนั้นจะรู้ได้ว่าจะต้องมีปัญญาอีกขั้นหนึ่ง แล้วเราเองจะเป็นคนที่เข้าใจความหมายของคำว่า “อบรม” โดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอกเราว่าอบรมต้องทำแบบนี้ แต่เรารู้เลย ว่าถ้าไม่มีการฟังเป็นพื้นฐานจะเอาอะไรอบรมหรือจะอบรมอะไร และเมื่อฟังแล้วความรู้ไม่ใช่ประจักษ์แจ้งทันที แต่ต้องอาศัยกาลเวลาจากการฟัง และก็เป็นความคิดที่ถูกตรงตามธรรม และยังต้องมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นอบรมคือแบบนี้ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเลย ไม่ใช่ใครมาแปลหรือมาบอกว่าอบรมคืออย่างนั้นอย่างนี้ นั่นคือคำแปล แต่คำแปลนั้นหมายความถึงอะไร การเข้าใจอย่างไรต้องมาจากความเข้าใจในขั้นต้นว่าเราไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เลยถ้าไม่มีการฟัง และเมื่อการฟังพอสมควรแล้ว วันหนึ่งๆ ที่เราคิดหรือตรึก เราตรึกไปในทางกุศลหรืออกุศล นี่คืออบรมกุศลที่จะเกิดขึ้นจากการฟังที่เข้าใจ แล้วเมื่อมีการฟังเข้าใจเพิ่มขึ้น มีสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไหร่ก็จะรู้ว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่ฟังเข้าใจ เพราะว่าฟังเข้าใจ คือฟังเข้าใจเรื่องราว ทั้งๆ ที่มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะใดที่สติเกิดรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ก็รู้ว่าเป็นอีกขั้นหนึ่งที่ตัวจริงของธรรมปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง

    เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้นยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งการเกิดดับ แต่จากการที่ได้เริ่มรู้ลักษณะที่มีจริงๆ จนกว่าความเข้าใจจะเพิ่มขึ้น มากขึ้น ทั่วขึ้น สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็จะต้องปรากฏกับปัญญาที่อบรมแล้ว อย่างนี้เราจะเข้าใจความหมายของคำว่าอบรมหรือภาวนาด้วยตัวของเราใช่ไหม ไม่ใช่ไปอาศัยคำแปลว่าต้องแปลว่าอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ มาจากอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดเป็นประโยชน์ที่เกื้อกูลว่า ถ้าเรายังไม่เข้าใจเราประมาทคำที่ได้ยินได้ฟังไม่ได้ เราต้องเข้าใจจนกระทั่งเราพูดว่ากุศลจิต อกุศลจิตอยู่ในชวนะ เรารู้แล้วว่าผิดแล้วใช่ไหม นั่นจำ แต่จะไปอยู่ในชวนะได้อย่างไรในเมื่อกุศลเป็นชวนจิตเพราะทำชวนกิจ ไม่ใช่ทัศนกิจ ไม่ใช่กิจอะไรเลย นี่คือฟังแล้วก็ต้องค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ว่าธรรมคือขณะนี้ และก็เป็นจริงอย่างนี้ ไม่ใช่กล่าวตามตำราแล้วเราก็จำไว้เป็นบรรทัดว่า กุศลจิตอยู่ในชวนะ หรือ ๕๕ ดวง อะไรอย่างนั้น แล้วก็ไปไล่เรียงหา แต่ขณะจริงๆ ก็คือยังไม่ได้เข้าใจว่าเป็นชวนจิตเพราะทำชวนกิจ เหมือนกับเป็นปฏิสนธิจิตเพราะทำปฏิสนธิกิจ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100


    หมายเลข 7606
    22 ม.ค. 2567