มโนทวารวิถีจิตสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง


    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ที่กำลังนั่ง เห็นไหม

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วสภาพคิดก็มี เพราะว่าในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้มีมโนทวารคั่นอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นมโนทวารมีรูปารมณ์ขณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอารมณ์ด้วยหรือไม่

    ผู้ฟัง ต้องมีด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีด้วย เพราะฉะนั้นมโนทวารสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง แม้แต่รูปารมณ์ที่รู้ทางจักขุทวาร มโนทวารวิถีที่เกิดต่อก็รู้อารมณ์นั้นเหมือนขณะนี้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากความเป็นจริงเลย แต่จากการศึกษาสามารถทำให้เราเข้าใจความเป็นอนัตตาว่าไม่ใช่เรา เพราะยากแสนยากที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราโดยเพียงขั้นฟังเท่านั้นเอง แต่จะต้องมีการฟังที่เข้าใจขึ้น แล้วก็เข้าใจขึ้น แล้วก็ตรงด้วย เช่น มโนทวารวิถีเกิดต่อจากจักขุทวารวิถีมีรูปารมณ์ที่เพิ่งดับไปเป็นอารมณ์ มโนทวารวิถีเกิดต่อจากโสตทวารวิถีมีเสียงคือสัททารมณ์ที่เพิ่งดับไปเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นทางมโนทวารรู้ได้ทุกอารมณ์ ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อไปรู้ทางมโนทวารแล้วเปลี่ยนลักษณะของเสียงให้เป็นธัมมารมณ์ไปหมด

    ผู้ฟัง จากการศึกษามโนทวารในชุดแรกหรือวิถีแรกก็จะรู้อารมณ์เหมือนกับทางปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นอารมณ์อะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นอารมณ์ทางปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ทางจักขุทวารวิถีดับหมดไปแล้ว ภวังค์คั่นแล้ว มโนทวารก็รู้สืบต่อ ไม่ปรากฏว่ามีการไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเลย

    ผู้ฟัง แต่ว่าในมโนทวารวิถีที่สืบต่อ ต่อไปที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ก็จะยิ่งเหินห่างจากทางปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าจริงๆ แล้วก็มีเสียงมีอะไรเกิดสลับอย่างรวดเร็วมาก ที่ทรงแสดงไว้เพื่อแยกให้เห็นทีละขณะจิต แต่ความเป็นจริงก็คือขณะนี้กี่วาระที่เกิดดับสืบต่อ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นความเข้าใจในขั้นการฟังก็จะต้องมั่นคงตรงนี้ด้วยจึงจะรู้ลักษณะของธัมมารมณ์ที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ มั่นคงว่าขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏแต่ไม่รู้ เพียงฟังเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิดเมื่อใด ผู้นั้นจะรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่สติขั้นฟัง เพราะขณะที่ฟังเข้าใจเป็นกุศลจิตมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีสติระดับฟังเกิดร่วมด้วย ขณะที่เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นสติระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่สติที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 100


    หมายเลข 7611
    22 ม.ค. 2567