กิริยาจิตที่ทำกิจชวนะ
ผู้ฟัง กิริยาจิตที่ทำกิจชวนะมีการสะสมเหมือนกุศล และอกุศล ถ้าเป็นกุศล และอกุศล เราจะมองเห็นชัดเลยว่าสะสม แต่กิริยาจิตสะสมทำกิจชวนะ มองไม่เห็นได้ ทำอย่างไรจึงจะให้เข้าใจว่าแม้เป็นกิริยาจิตเมื่อทำกิจชวนะแล้วย่อมสะสมด้วย ขอความกรุณาอธิบายให้เห็นด้วย
อ.อรรณพ แม้พระอรหันต์เอง ท่านดับกิเลสได้แล้วเป็นสมุทเฉท แต่ท่านก็ยังต้องมีการดำเนินชีวิตของท่านตราบเท่าที่ยังไม่ปรินิพพาน ฉะนั้นก็ต้องมีการประกอบกิจภาระในชีวิตประจำวัน ท่านก็ต้องเรียนรู้การเย็บจีวร การดำเนินชีวิตของท่าน ซึ่งในขณะนั้นชวนจิตเป็นกิริยาเพราะไม่มีเยื่อใยของการที่อกุศลจะเกิด และไม่มีการที่กุศลจะเกิดขึ้นอีก เพราะว่ากุศลสูงสุดนั้นก็คืออรหัตตมรรค เกิดแล้วดับกิเลสได้หมดแล้ว แต่ว่าการที่ท่านจะมีการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ท่านก็มีการสะสมอัธยาศัยที่จะทำในสิ่งนั้น มีการฝึกหัดได้ก็เพราะว่าชวนจิตทำกิจชวนะ ต่างจากอเหตุกกิริยาซึ่งเป็นเพียงกิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เกิดขึ้นเพื่อกระทำทางให้จิตเกิดขึ้นทางปัญจทวารบ้าง ทางมโนทวารบ้าง หรือหสิตุปาทจิตซึ่งเป็นจิตที่แย้มยิ้มที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ แต่ถ้าเป็นสเหตุกกิริยาก็มีการสะสมอัธยาศัยในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตเหลือ นั่นคือกิจของชวนะ
ท่านอาจารย์ พระอรหันต์อัธยาศัยต่างกันใช่ไหม แล้วชีวิตประจำวันของท่านต่างกันด้วยหรือไม่ หรือว่าเหมือนกันเป็นรูปแบบไปหมด ไม่เหมือน ฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับท่านแต่ละรูปในแต่ละวันก็ต้องสะสมทำให้มีการปรากฏที่ต่างกัน ยกตัวอย่าง ท่านพระสารีบุตรแสดงธรรมขณะนั้นก็เป็นมหากิริยาจิต สิ่งที่ท่านได้สะสมมาที่จะกล่าว คำพูดของท่านใน ๗ ขณะกับคำพูดของพระภิกษุรูปอื่นใน ๗ ขณะจะต่างกันหรือเหมือนกัน หรือแม้แต่ความคิดของเราในขณะนี้ ซึ่งทุกคนก็คิด แต่ความคิดแม้ว่าจะเป็นกุศลก็ต่างกัน ๗ ขณะๆ นี่ต่างกันหมด เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วชีวิตของท่านก็ต่างกัน นี่ดูจากภายนอกคือชีวิตประจำวัน แต่สภาพจิต ๗ ขณะๆ ที่จะทำให้ชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างนั้นก็ต้องต่างกันด้วย จะให้ความคิดของท่านพระสารีบุตร ๗ ขณะ มาเป็นความคิดของท่านพระมันตารีบุตร ๗ ขณะก็ไม่ได้ ใช่ไหม
ที่มา ...