อกุศลจิตมี ๓ ประเภท แต่ตามความเป็นจริงจะรู้ได้จริงๆ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าทางฝ่ายอกุศลจิตมี ๓ ประเภท คือ โลภมูลจิต ๘ ประเภท โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ อ่านตำราทุกตำรา หนังสือทุกเล่ม ก็ทราบว่าเป็นอย่างนี้ แต่ตามความเป็นจริงต้องคิดโดยละเอียดว่าเราสามารถจะรู้ได้จริงๆ หรือไม่ ตามที่ได้ทรงแสดงไว้ว่าทุกคนไม่ว่าใคร เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ ภวังคจิตเกิดต่อ วิถีจิตแรกที่จะเกิดขึ้นที่ไม่ใช่ภวังค์ต้องเป็นทางมโนทวาร แล้วก็เป็นโลภมูลจิต ความติดข้องในอารมณ์นั้นแล้ว ก็ลองคิดดูว่าเราจะกล่าวได้ไหม โดยชัดเจนว่าหลังจากที่เห็นแล้วจะเป็นโมหะหรือจะเป็นโลภะ เพราะฉะนั้นจึงต้องทรงแสดงเรื่องของเวทนาซึ่งเกิดร่วมกับจิตนั้นให้รู้ว่าขณะใดเป็นโลภมูลจิต ขณะใดเป็นโทสมูลจิต ขณะใดเป็นโมหมูลจิต ถ้าโลภมูลจิตก็คือมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นมูลหรือเป็นเหตุประกอบกับจิตนั้น ถ้าโทสมูลจิตก็คือจิตนั้นมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นมูลประกอบกับจิตนั้น หรือถ้าเป็นโมหมูลจิตก็คือขณะนั้นมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีโลภเจตสิก และไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย
สำหรับโลภะ และ โมหะจะมีความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนาไม่สุขไม่ทุกข์เกิดร่วมด้วย แต่สำหรับโมหมูลจิตจะมีเฉพาะอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว สำหรับโลภมูลจิตจะเกิดกับอุเบกขาเวทนาก็ได้หรือโสมนัสเวทนาก็ได้ นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันเวลาที่เราชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความรู้สึกในขณะนั้นเป็นอะไร ความรู้สึกโสมนัสใช่ไหมถ้าเห็นสิ่งที่ถูกใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ได้ยินเสียงที่ชอบทางหู ได้กลิ่นที่ชอบทางจมูก ทางลิ้นก็รสอร่อย ทางกายสิ่งที่กระทบสัมผัสนั่นก็สบาย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าจะต้องค่อยๆ พิจารณาให้เข้าใจ แม้ในขั้นของการศึกษาก็ต้องเปรียบเทียบว่าแท้ที่จริงแล้วจะรู้จริงๆ ได้ไหมว่าขณะไหนเป็นโลภมูลจิต หรือว่าขณะไหนเป็นโมหมูลจิต ยกตัวอย่างเรื่องที่ทรงแสดงว่าหลังจากที่เกิดแล้ว วิถีจิตแรกต้องเป็นมโนทวารวิถี แล้วก็เป็นโลภมูลจิต นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการที่ทรงแสดงไว้ต่างๆ ก็ทำให้เราเปรียบเทียบว่าแท้จริงแล้วแม้ว่าสภาวธรรมจะเป็นแบบนั้น แต่จะรู้จริงได้ด้วยปัญญาต้องอบรมตามลำดับขั้น ถ้ายังไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม รูปธรรม เราจะไปรู้ละเอียดถึงธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดไม่ได้ แม้แต่ที่กล่าวว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตหรือว่าเป็นโลภเจตสิก เพราะขณะนั้นก็มีทั้งโลภเจตสิก และจิตด้วย ไม่ได้มีแต่โลภเจตสิกโดยไม่มีจิต แต่ว่าลักษณะใดปรากฏที่พอจะรู้ได้ เช่น ค วามรู้สึกถ้าตกใจ หรือกลัว หรือเสียใจ หรือความรู้สึกเจ็บปวด ขณะนั้นลักษณะที่ปรากฏให้รู้เป็นอะไร เราคิดถึงสภาพความเจ็บหรือว่าเราไปคิดถึงว่าจิตขณะนั้นประกอบด้วยความรู้สึกเจ็บ นี่ก็เป็นสิ่งที่ปัญญาเท่านั้นที่จะค่อยๆ อบรมจนกว่าจะสามารถรู้ตรงตามที่ทรงแสดงไว้ ว่าเป็นลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยความรู้สึกนั้น หรือเป็นลักษณะของความรู้สึกนั้นที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่ให้เรารู้จักชื่อไว้ก่อน เพียงแต่ว่าเราเข้าใจได้ว่ามีจริงตามที่ทรงแสดง แต่จะรู้ ที่ใช้คำว่ารู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นก็ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดเป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่ากำลังมีลักษณะของสภาพธรรมนั้นเป็นอารมณ์จริงๆ โดยไม่ต้องเรียกชื่อ ถ้าขณะที่ความรู้สึกเจ็บปรากฏไม่ต้องไปนั่งนึกว่านี่เป็นโผฏฐัพพารมณ์ หรือจิตที่กำลังรู้ขณะนั้นเป็นกายวิญญาณ แล้วจิตที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นกุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะขณะนั้นดับไปหมดแล้ว สภาพธรรมทั้งหมดเกิดแล้วดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นการที่รู้จริงๆ ต้องไม่มีชื่อ
กำลังมีเฉพาะลักษณะนั้นปรากฏ ถ้าคิดถึงชื่อ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าลักษณะของสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพียงอาศัยระลึกดับแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ที่จะละคลายความติดข้องไม่ใช่ไปจดจ้องอยู่ที่สิ่งนั้นซึ่งดับแล้วโดยไม่รู้ แต่ว่าจะต้องมีการละคลายด้วยความเข้าใจถูกจนกระทั่งถึงอาศัยเพียงสติระลึก และก็ดับแล้ว และมีสภาพธรรมอื่นปรากฏจึงจะสามารถรู้ลักษณะสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันด้วยการคลายความไม่รู้ และคลายความเป็นตัวตน ฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ต้องทราบว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของการละคลาย ไม่ใช่เป็นเรื่องของการติดข้อง ถ้ามีคำที่แสดงให้เห็นว่าให้จงใจ หรือให้ทำประการใดๆ ก็ตาม ด้วยความติดข้อง แล้วเมื่อไหร่จะรู้ความจริงว่าแท้จริงสิ่งที่ปรากฏเพียงอาศัยระลึก แล้วก็ดับแล้ว แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นปรากฏแล้วเพียงอาศัยระลึก เพราะเหตุว่าสติสัมปชัญญะ จะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ แต่ต้องด้วยการคลายด้วยปัญญาที่รู้ตามลำดับจะให้ไปฝืนทำอย่างนั้นก็เป็นเรา ไม่ใช่ความรู้จริงๆ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดที่ไม่ประมาทที่จะต้องรู้ว่าความรู้ขั้นไหนเป็นขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นสติสัมปชัญญะเกิด ขั้นอบรมต่อไปจนกว่าจะประจักษ์จนกระทั่งขณะไหนเป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งไม่ใช่ขั้นที่สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่วิปัสสนาญาณ และขั้นปริญญาก็ต้องต่อไปอีกหลังจากที่วิปัสสนาญาณเกิดแล้วจึงจะเป็นปริญญาได้
ที่มา ...