การศึกษา ๓ อย่าง
เพราะฉะนั้นก็จะสามารถเข้าใจข้อความที่ว่าการศึกษา ๓ อย่าง การศึกษาเพื่อเป็นที่พึ่ง เพราะว่าขณะนี้เรามีพระธรรมเพื่อที่จะพึ่งโดยการที่ว่าได้ฟังแล้วไตร่ตรอง เข้าใจว่าสิ่งที่มีขณะนี้ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร และก็เป็นเราที่สะสมมาทางฝ่ายอกุศลประเภทไหน ถ้ามีการรู้สึก และเข้าใจในสิ่งที่สะสมมาว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรสะสมต่อไปก็จะมีการสะสมใหม่ นี่ก็เป็นเรื่องซึ่งเราก็สามารถจะเห็นได้ว่าการศึกษาของเราขณะนี้ ที่เราจะเป็นบุคคลที่มีปัญญามากน้อยแค่ไหนก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ การศึกษานั้นเป็นไปเพื่อเป็นที่พึ่งในการที่จะขัดเกลากิเลส นี่คือการศึกษาที่เป็นประโยชน์
แต่ถ้าศึกษาแบบจับงูพิษข้างหาง ก็จะทำให้มีการสำคัญตนที่กำลังศึกษา ศึกษาด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้นก็มีเรารู้ เราเก่ง เราสามารถรอบรู้ต่างๆ เช่นนั้นก็จะทำให้เกิดความสำคัญตน ซึ่งเป็นมานะ และการศึกษาที่เป็นขุนคลังหรือเพื่อจะรักษาพระศาสนาได้ก็ต้องไม่ใช่ผู้อื่นนอกจากพระอรหันต์ หมดกิจที่จะกระทำเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส
เพราะฉะนั้นเราจึงเป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง เราศึกษาธรรมเพื่ออะไร ปัญญาของเราระดับไหน ศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจในขณะนี้ที่เห็นว่าหลังจากเห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ขั้นนี้ก็เพียงโดยฟัง จริงๆ แล้วรู้ได้ไหม ปัญญาเท่านั้นที่รู้ได้ แล้วปัญญาที่ต้องเจริญขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นนี่เป็นปัญญาขั้นฟังก็จะทำให้มีความเข้าใจในระดับที่สามารถเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริง แต่ก็ต้องตามลำดับขั้นด้วย แต่ให้เห็นความสำคัญ และความต่างของวิบากกับชวนจิต ถ้าเป็นวิบากก็เป็นการรับผลของกรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ชวนะซึ่งเกิดต่อหลังจากเห็น ได้ยินแล้ว เป็นเหตุที่จะให้เกิดกรรม แล้วก็จะทำให้เกิดวิบากข้างหน้า แล้วก็ระหว่างที่ยังไม่ได้กระทำทุจริตกรรมก็จะสะสมเป็นอุปนิสัยต่างๆ ซึ่งขัดเกลาได้ ไม่ควรจะปล่อยไปโดยที่ว่าเป็นอย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ก็ให้เห็นความสำคัญของชวนจิตว่าแม้ว่าจะเกิด ๗ ขณะแล้วก็ยังสะสมสืบต่อไปด้วย
ที่มา ...