จิตแค่รู้เท่านั้น แต่เจตสิกรู้มากกว่าไม่ใช่หรือ
ผู้ฟัง ได้ยินมาว่าจิต ก็แค่รู้เท่านั้นเอง ไม่รู้อะไรมากไปกว่านั้น เจตสิกต่างหากที่รู้โลภะ โทสะ ไม่ใช่หรือ
ท่านอาจารย์ ขณะนี้คุณเด่นพงศ์เห็นอะไร เห็น ไม่เห็นคุณเด่นพงศ์พูดถึงเจตสิกเลย ก็พูดถึงจิตที่เห็นไม่ใช่หรือ
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ คือสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าจะพูดถึงสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะจิตอย่างเดียว อินทริยะ คือความเป็นใหญ่ของสภาพธรรมทั้งหมดมี ๒๒ ประเภท ที่เป็นนามธรรมก็มี ที่เป็นรูปธรรมก็มี ขอยกตัวอย่าง รูป ซึ่งตามธรรมดาเราก็รู้ว่าจะต้องมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นใหญ่เป็นประธานเป็นมหาภูตรูป ส่วนรูปอื่นอีก ๒๔ ประเภทนั้นก็เกิดกับมหาภูตรูป ถ้าไม่มีมหาภูตรูป คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แล้ว รูปอื่นๆ จะมีไม่ได้เลย แต่ในขณะที่ "เห็น" ไม่มีใครกล่าวถึงมหาภูตรูปเลย ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แม้ว่ามี ถ้าไม่มี รูปอื่นก็มีไม่ได้ แต่ขณะ"เห็น" อะไรเป็นใหญ่ ถ้าไม่มีจักขุปสาทเป็นจักขุนทรีย์ที่จะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตเห็นในขณะนี้เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เวลาที่จะกล่าวถึงสภาพความเป็นใหญ่ ก็จะกล่าวแต่ละอย่างตามความเป็นใหญ่ของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะนั้น เช่น ในขณะนี้ทุกคนก็บอกว่าเห็น กล่าวถึงจิต ไม่ได้กล่าวถึงเจตสิก ไม่ได้กล่าวถึงผัสสะ ไม่ได้กล่าวถึงเจตนา ไม่ได้กล่าวถึงชีวิตินทรียะ มนสิการเจตสิกอะไรเลย ทำให้สามารถที่จะเข้าใจความเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลัษณะของสิ่งที่ปรากฏได้ไหมว่าจิตนี่ต้องเป็นใหญ่ในการรู้แจ้ง ทั้งๆ ที่เจตสิกก็รู้ แต่รู้โดยฐานะที่ต่างกับจิต เช่น ผัสสเจตสิกก็เป็นสภาพรู้ ก็รู้อารมณ์โดยการกระทบ หรือสัญญาก็รู้อารมณ์โดยจำอารมณ์ แต่การที่จะรู้ว่าขณะนี้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหรือเรื่องราวต่างๆ ก็ตาม ขณะนั้นจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ซึ่งนี่เป็นหน้าที่ของจิตประการเดียวคือสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์
เพราะฉะนั้นเราอาจจะกล่าวถึงนามธรรมอีกนัยหนึ่งคือนามธรรม ๕๓ ได้แก่เจตสิก ๕๒ ประเภท และจิต ๑ รวมจิตทุกประเภทก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์นั่นเอง แต่สภาพธรรมอื่นเป็นใหญ่ก็มี เช่น จักขุปสาทเป็นจักขุนทรีย์ในขณะเห็น แต่ไม่ได้เป็นใหญ่ในขณะที่ได้ยิน แต่เมื่อที่มีสภาพธรรมที่ได้ยินเกิดขึ้น โสตปสาทเป็นใหญ่เพราะว่าถ้าขาดโสตปสาท จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์หรือเป็นอินทริยะก็จะมีความเป็นใหญ่ในสภาพของธรรมนั้นๆ เช่น เวทนา (ความรู้สึก) ก็เป็นใหญ่ได้ ดีใจ ขณะนั้นอะไรรู้สึก แช่มชื่น โสมนัส ปลาบปลื้มเป็นสุข
ผู้ฟัง แต่ที่เห็น ก็แค่เห็นเฉยๆ
ท่านอาจารย์ ขาดสิ่งนั้นไม่ได้เลย ถ้าขาดสิ่งนั้นอะไรก็มีไม่ได้ ปรากฏไม่ได้ ขาดจิตแล้วไม่มีอะไรปรากฏเลยทั้งโลกหมดเลย อะไรก็ไม่มี แล้วก็ยังเป็นใหญ่ในเจตสิกที่เกิดร่วมกันด้วยเพราะว่าเป็นใหญ่ในฐานะที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์
ผู้ฟัง ถ้าขาดจิตจะไม่มีเจตสิกใช่ไหม
ท่านอาจารย์ อะไรๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย
ผู้ฟัง ในทางตรงกันข้ามก็เหมือนกัน ถ้าขาดเจตสิก จิตก็มีไม่ได้
ท่านอาจารย์ แต่เจตสิกก็ไม่ได้เป็นอินทริยะทั้งหมด เหมือนเช่น เวทนาเจตสิกที่เป็นอินทริยะ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนา ทั้งหมดเป็นใหญ่
ผู้ฟัง กระผมเข้าใจความเป็นใหญ่ในทางโลกคือมีอำนาจ บังคับให้ทำอะไรก็ได้ บังคับให้เราทำชั่วได้ ทำดีได้ อย่างนี้เป็นต้น
ท่านอาจารย์ แต่เมื่อถึงธรรมแล้วเป็นอนัตตา เป็นลักษณะ เป็นกิจหน้าที่การงานเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ สติเป็นใหญ่ไหม เป็นด้วย เป็นสตินทรีย์
ที่มา ...