วิถีเป็นกิจการของจิต วิบากเป็นชาติของจิตใช่หรือไม่


    ผู้ฟัง เรียนถามข้อที่หนึ่งว่า ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติจิตไม่ใช่วิถีจิต จะใช้คำว่าไม่ใช่ หรือไม่เป็น ข้อที่สองก็คือ วิถีนี่เป็นลักษณะกิจการของจิต และวิบากก็เป็นชาติของจิตคล้ายๆ อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ การที่จะกล่าวถึงจิตกล่าวได้หลายนัย ตั้งแต่เริ่มที่ว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริงเป็นสังขารธรรมเกิดดับ แล้วเมื่อจิตที่เกิดมาแล้ว เราก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นละเอียดขึ้น เช่น จิตที่เกิดนั้นเมื่อเกิดมาแล้วเป็นชาติอะไร เพราะว่าสภาพของจิตที่เกิดจะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ ชาติ หรือ (ชา+ติ) คือเมื่อเกิดแล้วเป็นกุศล หรือเกิดแล้วเป็นอกุศลซึ่งเป็นเหตุ หรือเกิดขึ้นเป็นวิบาก คือ ผลของกุศลกรรม และ อกุศลกรรม หรือเกิดขึ้นเป็นกิริยาจิตซึ่งไม่ใช่อกุศล กุศล และ วิบาก นี่คือจิตหนึ่งขณะที่เกิดขึ้น เราสามารถที่จะเข้าใจจิตนั้นละเอียดขึ้น และเมื่อเข้าใจแล้วว่าจิตนี้เป็นชาติอะไร ก็ควรที่จะรู้ว่าจิตเกิดขึ้นทำกิจการงาน ไม่ใช่จิตหนึ่งขณะเกิดมาแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ว่าจิตหนึ่งขณะที่เกิดจะเป็นชาติอะไรก็ตาม ทุกจิตต้องมีกิจการงานของหน้าที่จิตนั้นๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเรากล่าวเรื่องชาติแล้ว เราก็กล่าวเรื่องกิจการงานของจิตนั้น ซึ่งกิจการงานของจิตทั้งหมดจะมี ๑๔ กิจ จิตที่เกิดขึ้นจะต้องทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ เพราะฉะนั้นก็ทราบว่าถ้ากล่าวถึงกิจหนึ่งของจิตก็จะรู้ได้ว่ามีอะไรบ้าง เช่น ปฏิสนธิ คือกิจของจิตที่ทำหน้าที่สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน นี่คือ ปฏิสนธิกิจ เพราะฉะนั้นเราจะเรียกชื่อจิตตามกิจก็ได้ คือจิตใดที่ทำปฏิสนธิกิจเราก็เรียกว่าปฏิสนธิจิต แล้วปฏิสนธิจิตก็ต้องมีชาติเพราะเหตุว่าจิตทุกดวงต้องมีชาติ เพราะฉะนั้นจิตที่ทำกิจปฏิสนธิเป็นชาติอะไร นี่คือการที่จะรู้จักจิตหนึ่งขณะละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ก็ไม่ใช่วิถีจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าได้ยินคำว่าวิถีจิตต้องหมายความถึง จิตที่อาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิจิต และภวังคจิต เพราะว่าจิตทุกขณะเกิดขึ้นเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่จิตกำลังรู้ด้วย และสิ่งที่จิตกำลังรู้นั้นก็ใช้คำว่า “อารัมมณะ” หรือ “อาลัมพนะ” เพราะฉะนั้นจิตที่จะไม่มีอารมณ์ หรืออารัมมณะ หรืออาลัมพนะ ไม่ได้เลย จิตทุกขณะไม่ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ที่ไหน แม้แต่จิตขณะแรกที่เกิดขึ้นก็ต้องมีอารมณ์

    ผู้ฟัง ๑ ขณะคือ

    ท่านอาจารย์ มีอนุขณะ ๓ ของจิต ๑ ขณะ คือ ขณะที่เกิดไม่ใช่ขณะที่ดับ และระหว่างที่เกิด และยังไม่ดับก็เป็นฐีติขณะ คือขณะที่ตั้งอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจิตนี้จะเกิดที่ใด ภูมิใดก็ตามต้องมีอายุเท่ากันทั้งหมดคือ ๓ อนุขณะแล้วก็ดับไป

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 104


    หมายเลข 7700
    22 ม.ค. 2567