สัมปยุตตปัจจัย - จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน
อ.ธีรพันธ์ ปัจจัยต่อไปที่ขาดไม่ได้ก็คือ ขณะที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะว่าจิตกับเจตสิกแยกขาดจากกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันแล้วมีอารมณ์เดียวกัน และดับพร้อมกัน อาศัยที่เกิดเดียวกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ขณะนั้นก็คือปัจจัยที่เป็น สัมปยุตตปัจจัย นั่นเอง คือปฏิสนธิจิตเป็นสัมปยุตตปัจจัยให้แก่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย หรือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นสัมปยุตตปัจจัยให้แก่ปฏิสนธิจิตนั้นเอง แยกขาดจากกันไม่ได้ คือสัมปยุตต์เป็นสภาพธรรมนามธรรมที่เกิดร่วมกันจึงเป็นสัมปยุตตปัจจัย
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเพียงแต่ชื่อใหม่ ความจริงก็ชื่อเก่า แต่ทบทวนอีกครั้งหนึ่งก็คือสัมปยุตตปัจจัยเพราะว่าเราทราบแล้วว่าจิตกับเจตสิกต้องเกิดพร้อมกัน จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และจะมีแต่เจตสิกเกิดโดยไม่มีจิตเกิดร่วมด้วยไม่ได้ แต่สภาพธรรมที่จะเกิดร่วมกันได้ที่เป็นนามธรรมทั้งจิต และเจตสิกก็คือเป็นนามธรรมล้วนๆ ลองคิดดู ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย แต่นามธรรมที่เกิดพร้อมกันอย่างหนึ่งเป็นจิต และอีกอย่างหนึ่งเป็นเจตสิก และต่างก็อาศัยกัน และกันเกิด เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่จะเกิดโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้เลย จิตก็ต้องมีปัจจัย เจตสิกก็ต้องมีปัจจัย แล้วแต่ว่าขณะนั้นเราจะกล่าวถึงปัจจัยอะไร แล้วก็เป็นจิต เจตสิกประเภทไหน แต่ในเมื่อทั้งจิต และเจตสิกขาดกันไม่ได้เลย การที่จะขาดกันไม่ได้เลยต้องเป็นสภาพธรรมที่สามารถเข้ากันได้สนิทคือเป็นนามธรรมกับนามธรรม เมื่อเป็นนามธรรมที่เกิดต้องเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ เมื่อเกิดพร้อมกัน และเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ จะแยกอารมณ์กันไม่ได้เลย จิตมีอารมณ์อะไร เจตสิกก็มีอารมณ์นั้นรู้อารมณ์นั้นเอง และถ้าจิตเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตนั้นเกิดที่รูปไหน เจตสิกที่เกิดพร้อมกันดับพร้อมกันก็เกิดที่รูปนั้นด้วย เพราะฉะนั้นก็เพียงเพิ่มชื่อจากที่เราเคยเข้าใจแล้วเป็นสัมปยุตตปัจจัย เพราะฉะนั้นรูปธรรมไม่ใช่สัมปยุตตปัจจัย เฉพาะนามธรรมคือจิต และเจตสิกเท่านั้นโดยที่ว่าเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และเกิดที่รูปเดียวกันในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสัมปยุตตปัจจัย
๓ ปัจจัยแล้วไม่ยากเลยใช่ไหม กัมมปัจจัย อารัมณปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย เข้าใจแล้วทั้งหมดเพียงแต่ว่าแสดงความเป็นปัจจัยเท่านั้นเอง
ที่มา ...