ทิฏฐิเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนาก็ได้


    เพราะฉะนั้นแม้แต่ขั้นเรื่องราวก็จะเห็นได้ว่าเวลาที่สนทนากัน จะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะจิตในขณะนั้นแม้แต่คำพูด บางคนก็อาจจะตื่นเต้นกับเหตุการณ์ซึ่งไม่ได้เป็นจริง แต่ว่าเข้าใจว่าเป็นจริง ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด อย่างที่กล่าวว่าบางทีแม้เป็นอกุศลก็เข้าใจว่าเป็นกุศล เพราะว่าบางคนก็ไปพยายามทำจิตให้นิ่ง และในวันหนึ่งๆ มีแต่เรื่องวุ่นวาย ก็พยายามที่จะไปนั่งไม่ให้คิดเรื่องอะไร บอกว่าให้จิตดิ่งบ้างหรือให้เฉยบ้าง ขณะนั้นก็เข้าใจว่าเป็นกุศล แต่ความจริงเป็นอกุศล นี่ก็คือความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดในเรื่องราวก็มี ความเห็นผิดหลากหลายต่างๆ ก็มี ถ้าสนทนากันก็จะได้ทราบว่าขณะนั้นผู้ที่กำลังเห็นผิดอย่างนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมกับความรู้สึกโสมนัส หรือว่ามีความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับอุเบกขา เพราะว่าถ้าจะพิจารณาแล้วสำหรับความรู้สึกที่จะเกิดกับความติดข้องคือโลภมูลจิตจะมีเพียง ๒ อย่างคืออุเบกขาเวทนา อทุกขมสุข เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์อย่างหนึ่ง และโสมนัสเวทนาอีกอย่างหนึ่ง ถ้าขณะใดที่ขุ่นใจแม้นิดเดียว ไม่ใช่สภาพของโลภมูลจิตที่ติดข้องในสิ่งนั้น แต่เป็นโทสมูลจิต เพราะฉะนั้นลักษณะของเวทนาก็พอที่จะให้เห็นความต่างของโลภมูลจิตกับโทสมูลจิต แต่สำหรับโมหมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว นี่ก็เป็นความละเอียดที่จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจสภาพของจิตว่าขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทใด แต่สำหรับความเห็นผิดจะเห็นได้ว่าเกิดกับความรู้สึก ๒ อย่าง บางคนเห็นผิดแล้วก็โสมนัส ร้องเพลง สรรเสริญ เต้นรำ หรืออะไรก็แล้วแต่ เราจะเห็นการบูชายัญใช่ไหม ที่เข้าใจว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วๆ จะพ้นจากบาป อาจจะร้องเพลง อาจจะเต้นรำ อาจจะสนุกสนาน ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา แต่บางคราวก็ไม่เป็นอย่างนั้นก็เป็นความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ยังยึดมั่นในความเห็นนั้นแต่ก็ไม่ใช่ด้วยโสมนัส เป็นอุเบกขาได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 122


    หมายเลข 8794
    28 ส.ค. 2567