ทิฏฐิเกิดร่วมกับโสมนัสหรืออุเบกขาเวทนา


    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพคิดซึ่งเป็นจิตประกอบด้วยเจตสิกในขณะนั้นด้วย

    ผู้ฟัง และการคิดแบบนี้ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คือไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะใส่ชื่อหรือปิดป้าย แต่เป็นเรื่องเข้าใจ ขณะนั้นคิดเรื่องอะไร เช่น บางคนพอเรียนเรื่องจิตประเภทนี้ ก็พยายามไปดูว่าเมื่อไรจิตประเภทนี้จะเกิด ความจริงเกิดอยู่แล้วแต่ไม่รู้ก็มี เช่น จิตที่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มีเป็นประจำวันไม่ต้องไปหา แต่ไม่รู้ว่าขณะนั้นก็คือจิตที่เรากล่าวถึง เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาสภาพธรรม ถ้าเรามีความเข้าใจแล้ว เราก็จะรู้ว่าเป็นจิตใดที่กล่าวถึง เช่น ถ้าสนทนากับคนที่มีความเห็นผิด แล้วเขาก็พอใจมากในความเห็นผิดนั้นเป็นโสมนัส เราก็อาจจะเกิดความเข้าใจได้ว่าขณะนั้นก็คือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังจากการเรียนว่าความเห็นผิดต้องเกิดร่วมกับความติดข้องซึ่งต้องเป็นโลภะ ถ้าขณะที่เป็นโมหะจะไม่มีความเห็นผิดใดๆ เลยเพราะมืด ไม่รู้อะไร ไม่มีแม้ความเห็นผิด เป็นแต่เพียงความไม่รู้เท่านั้น ขณะนั้นจึงเป็นโมหมูลจิตที่ไม่ใช่โลภมูลจิต ไม่ใช่โทสมูลจิต แล้วถ้าเป็นโทสมูลจิตกำลังโกรธไม่พอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นจะไม่มีความเห็นใดๆ เกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความเห็นเป็นทิฏฐิต้องมีความพอใจในขณะนั้นจึงเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นสำหรับทิฏฐิเจตสิกจะเกิดกับโลภมูลจิตประเภทเดียว นี่ก็เป็นการที่เราค่อยๆ เข้าใจว่าเพราะเหตุใดเวลาที่ทิฏฐิความเห็นผิดเกิดขึ้นต้องเกิดกับจิตที่ติดข้องพอใจในความเห็นนั้น และบางขณะก็เป็นโสมนัส บางขณะก็เป็นอุเบกขา และบางขณะก็มีกำลังกล้าเกิดขึ้นเอง ชอบความเห็นนั้นเอง หรือบางขณะก็เกิดเพราะได้รับฟังบ่อยๆ นี่ก็คือโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดซึ่งจะมีความต่างโดยเวทนา และก็ต่างโดยมีกำลังกล้า และมีกำลังอ่อน แต่ไม่ใช่ถามว่าแล้วนี่เป็นอะไร แต่เป็นความเข้าใจของเราค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 122


    หมายเลข 8801
    26 ม.ค. 2567