ขณะที่เชื่อในความเห็นผิด จะไม่รู้ว่าเป็นความเห็นผิด
ผู้ฟัง ตามที่บอกว่าฟังเพื่อที่จะละ ไม่ได้ฟังเพื่อต้องการ การที่เรามาฟังนี่ เราฟังเพื่อที่จะละความเห็นผิดมากกว่าหรือละความติดข้อง หรือละความเข้าใจผิด ในขณะที่เกิดตรงนั้นมีความต้องการอยากที่จะเจริญกุศล ความรู้สึกหรือลักษณะของสภาพธรรมจะต่างกันตรงนั้น
ท่านอาจารย์ เมื่อฟังคุณธนกรจบแล้วก็ทราบว่าคุณธนกรจะเห็นความต่างของจิตในขณะที่มีความต้องการที่จะทำเพราะคิดว่าทำแล้วก็จะได้ผล แต่หนทางนั้นไม่ใช่หนทางที่ถูก เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังธรรมแล้วก็รู้ถูกเห็นถูกว่าฟังเพื่อเข้าใจ เพื่อละความเข้าใจผิด เพราะฉะนั้นจะเห็นความต่างกันไหม ว่าแต่ก่อนจะเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูก กับขณะที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจขึ้น รู้ว่าขณะนั้นไม่ถูก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเพียงความเห็นผิดแล้วก็ไม่ทำ ใครจะว่าอย่างไรก็ไม่ทำ แต่อาจจะมีความเห็นตามแต่ยังไม่ได้ทำ ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิดที่ไม่ใช่สีลัพพตปรามาสกายคันถะ แต่ว่าเป็นความเห็นผิด แต่ถ้ามีการกระทำเกิดขึ้น และการกระทำนั้นไม่ใช่เป็นการกระทำที่เป็นเหตุที่จะให้ได้รับผลที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของความเห็นผิดในการกระทำสิ่งที่เข้าใจว่าหนทางนั้นจะเป็นหนทางที่ถูก เพราะทำอย่างไรก็ไม่ถูก นอกจากจะเห็นผิดเพิ่มขึ้น ถ้าไม่เข้าใจผิด ไม่เชื่อ ทำไหม หรือทำไปอย่างนั้นเอง
ผู้ฟัง เป็นความเห็นผิดด้วย
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่อย่างนั้นจะทำได้อย่างไร
ผู้ฟัง เพราะขณะนั้นสภาพจิตมีความรู้สึกว่าไม่มีความเห็นผิด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม ใครก็ตามที่เห็นผิดคนนั้นไม่รู้ว่ามีความเห็นผิด คนที่มีความเห็นผิดจะไม่รู้ ถ้ารู้เมื่อไรไม่ใช่ความเห็นผิดเมื่อนั้น
ผู้ฟัง ขณะที่ศึกษาธรรมขณะนี้ทราบว่าตอนนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แต่เราจะย้อนกลับไปขณะนั้น บางครั้งความรู้สึกตรงนั้นก็มีเกิดขึ้นสลับในขณะนี้ก็มี ยากที่จะรู้ว่าเป็นความเห็นผิด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอกุศลทั้งหลายไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะที่กำลังเชื่อยึดมั่นในความเห็นผิดจะไม่รู้ว่าเป็นความเห็นผิด เพราะถ้ารู้ว่าเป็นความเห็นผิดก็คงจะไม่เชื่อเพราะรู้ว่าเห็นผิด แต่เพราะไม่รู้จึงเห็นผิด
ผู้ฟัง เหมือนกับว่าไปตรงนั้นก็ได้เจริญกุศลด้วย ทำให้เราเห็นการเจริญกุศลตรงจุดนั้น
ท่านอาจารย์ ถึงไม่ไปก็เจริญกุศลนั้นได้ ถ้าพูดถึงเรื่องทาน แม้ไม่ไปก็เจริญกุศลนั้นได้ เพียงแต่ทราบว่าขณะนี้ทุกคนมีจิต แล้วจิตจะเกิดตามลำพังไม่ได้เลย ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วจิตจะเป็นจิตที่ดีเป็นกุศลหรือเป็นจิตที่ไม่ดีเป็นอกุศลก็เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นอกุศลเจตสิกเกิด จิตนั้นจะเป็นโสภณดีงามไม่ได้ และในขณะเดียวกันถ้าจิตนั้นเกิดร่วมกับโสภณเจตสิก จิตนั้นจะเป็นจิตที่ไม่ดีไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ถ้าพูดหรือได้ยิน หรืออ่าน หรือสนทนากันเรื่องอะไรก็จะทำให้ความคิดของเรากว้างขวาง โดยที่ว่าสามารถจะเข้าใจลักษณะของจิตซึ่งมีกับเราไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไร เช่นพูดเรื่องอกุศลจิต ดีไหม พูดเรื่องเรามีอกุศลจิตให้รู้ว่ามีจริงๆ และก็เป็นอกุศลด้วยนี่ก็เป็นประโยชน์ และอกุศลก็ไม่ใช่มีแต่โลภะอย่างเดียว โทสะก็มี โมหะก็มี ทั้งหมดมีอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท แต่ถ้าจะกล่าวถึงจิตที่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิกที่เป็นอันตรายมาก เป็นภัยจริงๆ ก็จะต้องเป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด สิ่งนี้เราอาจจะไม่คิดเลยว่าเราเห็นผิดบ้างหรือไม่ เห็นผิดในอะไรบ้าง เห็นผิดมากน้อยอย่างไร แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล ยังไม่ได้ดับทิฏฐานุสัยคือสภาพของความที่เป็นอกุศลอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิต แม้ในขณะปฏิสนธิในขณะที่เป็นภวังค์ ในขณะที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินอะไรทั้งสิ้น หรือแม้ในขณะที่เป็นกุศล ถ้าอนุสัยกิเลสยังไม่ดับก็หมายความว่าหลังจากที่กุศลจิตนั้นดับแล้ว อกุศลจิตก็มีปัจจัยเกิดได้ นี่เป็นเหตุที่เมื่อไร และทำไมอกุศลถึงไม่หมดไปเสียที มีมานานแสนนาน และก็เกิดอีกๆ ทุกวันแล้วเมื่อไรจะหมด ที่จะหมดได้ต้องด้วยปัญญาที่มีความเห็นถูกเข้าใจถูก แล้วก็ไม่ใช่เข้าใจถูกในสิ่งที่มีอยู่ในหนังสือ แต่ต้องเข้าใจถูกตามสภาพธรรมที่มีกับตนเอง รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะไหนเป็นอกุศล
ที่มา ...