พระโสดาบันดับความเห็นผิด


    ผู้ฟัง ผมมีความเข้าใจของผมขณะนี้คนธรรมดาสามัญอย่างเราถ้าเห็นโต๊ะเห็นเก้าอี้เป็นสัญญาด้วย และในขณะเดียวกันก็อาจจะเห็นผิดเลยไปว่า นี่เป็นโต๊ะเป็นอะไร แต่พระอริยบุคคลท่านเห็นท่านหยุดแค่สัญญาแค่นั้นไม่ได้คิดต่อไปอีก บางทีเราอาจจะเห็นว่าโต๊ะนี่ไม่สวยไม่งามไปเลย อย่างนั้นใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ มิได้ พระโสดาบันท่านก็พูดเรื่องโต๊ะสวย โต๊ะไม่สวยได้ และก็เห็นเป็นต้นไม้ดอกไม้ไปตามปกติได้ เป็นบุตรเป็นหลานได้ แต่จากการอบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ๔ ท่านจะไม่มีความเห็นผิดใดๆ ในสิ่งที่ปรากฏ ท่านรู้ว่าขณะนั้นก็คือสัญญาที่จำบัญญัติ แต่ว่าไม่ได้มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับวิปลาส ๓ จะมีสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส และทิฏฐิวิปลาส สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล พระโสดาบัน จะไม่มีวิปลาสทั้ง ๓ ในความเห็นผิด แต่ยังมีสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม เพราะว่าสะสมมามากที่จะพอใจในสิ่งที่งาม

    ผู้ฟัง เห็นดอกไม้งาม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส

    ผู้ฟัง เห็นสวยเห็นงาม

    ท่านอาจารย์ เป็นสัญญาวิปลาสกับจิตตวิปลาสที่เห็นสิ่งที่ไม่งามว่างาม เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข แต่จะไม่มีสัญญาวิปลาสกับจิตตวิปลาสในสภาพที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นพระอรหันต์หรือพระอริยบุคคลทั้งหลายเห็นดอกไม้งามต่างจากที่เราเห็นว่าสวย ว่างาม

    ท่านอาจารย์ นี้เป็นการที่จะแสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้วจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ จะเป็นจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดหรือไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็เทียบพระอริยบุคคลกับปุถุชนธรรมดา อย่างพระโสดาบันท่านเห็นลูกสุนัขน่ารัก ท่านก็ชอบ คนธรรมดาที่ไม่ใช่พระโสดาบัน ถ้าเป็นคนชอบสุนัข เห็นลูกสุนัขน่ารักก็ชอบ ขณะนั้นจิตประเภทเดียวกัน โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปยุตต์ เพราะเหตุว่าไม่มีความเห็น มีแต่โลภะในสิ่งที่ปรากฏ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้วท่านดับความเห็นผิด เพราะว่าท่านอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับสัญญาวิปลาสที่เคยเห็นว่าเที่ยง ที่เคยเห็นว่าเป็นเรา แต่ยังมีสัญญาวิปลาสกับจิตตวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งามว่ายังงามอยู่ เพราะไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุขยังมีอยู่เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระอรหันต์ นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้นอย่างเด็กๆ เกิดมาไม่มีความเห็นเรื่องโลก เรื่องความเห็นผิดใดๆ เกิดมาเห็นแล้วก็ชอบ เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็ต้องเป็นโลภมูลจิตที่ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยฉันใด เวลาโตแล้วจนถึงขณะนี้เป็นชีวิตประจำวัน เราก็พอจะรู้ได้ว่าขณะไหนเป็นโลภมูลจิตที่ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ในขณะที่รับประทานอาหารอร่อย เห็นสิ่งสวยๆ งามๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะนั้นก็มีความติดข้องเมื่อไร ก็เป็นโลภมูลจิตซึ่งไม่มีทิฏฐิความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 123


    หมายเลข 8809
    27 ม.ค. 2567