การสะเดาะเคราะห์กับการเชื่อผลของกรรม


    ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่าเราเชื่อในเรื่องผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ เวลานี้แน่นอนกำลังมีผลของกรรมก็ต้องเชื่อ เห็นขณะนี้ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้เกิดขึ้นได้นอกจากกรรม

    ผู้ฟัง คราวนี้คนทั่วไปเวลาประสบเคราะห์กรรมซึ่งหมายถึงว่าสิ่งที่กรรมไม่ดีให้ผล จะเนื่องจากว่าดูดวงมาแล้วมันไม่ดีหรืออะไรก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ แล้วกรรมดีล่ะไม่พูด

    ผู้ฟัง แล้วเราก็จะไปสะเดาะเคราะห์กันก็ดีเช่น การถวายสังฆทานเพื่อการสะเดาะเคราะห์ แล้ววันนี้รู้ว่าอาจจะไม่ถูกด้วยหลักด้วยเหตุด้วยผล และการปล่อยสัตว์เพื่อสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้ชีวิตดีขึ้น จริงๆ แล้วก็คือถ้าจิตเราคิดด้วยมีความกลัวอยู่ด้วยก็คือเป็นมิจฉาทิฏฐิใช่หรือเปล่า แล้วถ้าเกิดจิตเราคิดว่าปล่อยสัตว์ด้วยความเมตตาหรือว่าเราถวายสังฆทานเพื่อให้เกิดกุศลผลบุญสะสมต่อไป ก็จะเป็นสัมมาทิฏฐิที่เป็นความเห็นถูกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ วันนี้ยังไม่มีใครมีทุกข์ที่จะต้องสะเดาะเคราะห์ใช่ไหม แต่กุศลจิตก็เกิดได้ ทำไมเราจะไปทำบุญตอนที่เรามีเคราะห์กรรม และก็หวังว่าบุญนั้นจะทำให้เคราะห์กรรมอันนั้นหมดไป แม้ในขณะนี้หรือเมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่กุศลจิตเกิดก็เป็นกุศลที่เราจะกระทำทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางวัตถุต่างๆ บ้าง ก็กระทำได้ ไม่ต้องไปคิดว่าพอมีเคราะห์กรรมแล้วจะต้องไปสะเดาะหรือว่าจะไปทำบุญเพราะอย่างนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วถ้ากรรมที่ได้ทำมามากมายมหาศาล แล้วเราก็ไปปล่อยนก ๗ ตัว แค่นั้นพ้นไหมจากกรรมที่ได้กระทำไว้มากมาย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ ในเรื่องกรรม และผลของกรรม กุศลจิตย่อมเกิดมากไม่หวั่นไหว แม้ว่าจะได้ลาภหรือว่าเสื่อมลาภก็ตามแต่ไม่ใช่พอได้ลาภก็ไม่ต้องสะเดาะ ไม่ต้องทำกุศล หรือว่าพอมีเคราะห์ก็ต้องไปสะเดาะหรือว่าทำกุศล อันนั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นความจริง เพราะเหตุว่าเราไปคิดว่าการกระทำเล็กๆ น้อยๆ นั้นจะทำให้ผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วหมดไปได้ แต่ว่าตามความเป็นจริงเวลาที่เราบอกว่าผู้ที่มั่นคงในกรรม และผลของกรรมต้องไม่ใช่เพียงเรื่องราว ต้องสามารถที่จะรู้ถึงเหตุที่จะให้เกิดวิบากคือกรรม แล้วก็กุศลจิต และอกุศลจิตด้วย

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127


    หมายเลข 9136
    27 ม.ค. 2567