ทิฏฐาสวะ


    อ.อรรณพ ทิฏฐิก็เป็นอาสวะ ซึ่งอาสวะก็เป็นกิเลสที่บางเบาที่เกิดขึ้นแล้วก็ไหลไปในทุกภพภูมิทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยากเรียนถามให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความถึงความบางเบาของทิฏฐิที่เป็นทิฏฐาสวะ

    ท่านอาจารย์ ทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับโลภมูลจิตใช่ไหม เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็น และมีโลภะเกิดขึ้นรู้ได้ไหม

    อ.อรรณพ แทบจะไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทิฏฐิเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภะ ถ้าเกิด จะรู้ได้ไหมเหมือนกับลักษณะของโลภะที่ยากที่จะรู้ แต่ทั้งหมดปัญญาเท่านั้นที่สามารถจะรู้ได้ปัญญาจริงๆ รู้ได้จริงๆ ถ้ารู้ไม่ได้ละกิเลสไม่ได้ ดับกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้จริง ไม่ใช่การไม่รู้หรือคิดว่ารู้ หรือเข้าใจผิดว่ารู้แล้ว แต่เป็นปัญญาที่ค่อยๆ รู้ และค่อยๆ เจริญขึ้นจนกระทั่งรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

    อ.อรรณพ ทันทีที่เห็นหลังจากที่เห็นดับไป แทบจะไม่รู้เลยว่ามีความติดข้องแล้วความเห็นผิดก็อาศัยให้โลภะนั้นเกิดร่วมด้วยได้ หมักดองด้วยความติดข้อง และก็หมักดองด้วยความเห็นซึ่งกว้างขวางมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคำอีกคำหนึ่งสำหรับพระอรหันต์ก็คือ “ขีณาสวะ” ขีณะแปลว่าดับ + อาสวะ แสดงให้เห็นว่าเราจะเข้าใจเพียงแค่นิวรณธรรมกำลังสนุกหรือว่ากำลังผูกโกรธหรือว่ากำลังมีแต่ความขุ่นเคือง นั่นก็เป็นสภาพของอกุศลเจตสิกที่ปรากฏให้เห็นได้ แต่พระอรหันต์ไม่มีแม้อาสวะ เมื่อเห็นแล้วที่จะเป็นอกุศลใดๆ ทั้งสิ้นไม่มีเลย เพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่าขีณาสวะ แต่เวลาที่ทรงแสดงถึงโลกุตตรมรรคดับอนุสัย ก็แสดงให้เห็นว่าอนุสัยที่มีนอนเนื่องอยู่ในจิตสืบต่อไม่ปรากฏ ไม่เกิดขึ้น แต่มี เป็นพืชเป็นเชื้อเมื่อมีปัจจัยก็ทำให้อกุศลเกิดขึ้น ก็แล้วแต่ว่าระดับนั้นเป็นระดับของอาสวะหรือว่าจะเป็นนิวรณธรรมหรืออะไรก็แล้วแต่

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 128


    หมายเลข 9142
    26 ม.ค. 2567