ทิ้งความเป็นเราที่จะดู


    ผู้ฟัง การพิจารณารูป ยืน เดิน นั่ง นอน ถือเป็นอุบายที่จะทำให้จิตยึดอยู่กับร่างกาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่จะละคลายความไม่รู้

    ผู้ฟัง เพราะการเจริญวิปัสสนาก็คืออุบายที่เรากำลังดำรงอยู่

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นสูตรนี้ชื่ออะไร

    ผู้ฟัง มหาสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ถ้ามหาสติปัฏฐานคือสติไม่ใช่คุณหรือใครดู แต่ต้องเป็นสติที่เกิดขึ้น ต้องมีความเข้าใจว่าธรรมขณะนี้มีจริงๆ จากการฟังเข้าใจก็จะรู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด เข้าใจ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ เพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรมที่เกิดแล้วด้วย ไม่มีใครไปทำให้เกิดเลย เกิดแล้วทั้งนั้นที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นความเห็นถูกก็คือเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏโดยฟังให้เข้าใจว่าไม่มีเรา และสติก็ไม่ใช่เราด้วย โลภะก็ไม่ใช่เราด้วย ความเห็นผิดก็ไม่ใช่เราด้วย ความเห็นถูกก็ไม่ใช่เราด้วยจนกว่าทั้งหมดเป็นธรรม เพราะฉะนั้นต้องคิดด้วย ไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ฟังว่าสิ่งไหนถูก และสิ่งไหนไม่ถูกก็ทิ้ง มิฉะนั้นก็จะเก็บความไม่ถูกไปตลอด

    ผู้ฟัง ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะทิ้งอะไร

    ท่านอาจารย์ ทิ้งความเป็นเราที่จะดู เพราะไม่ใช่สติสัมปชัญญะ

    ผู้ฟัง ผมว่าก็คือธรรมชาติของจิต ก็อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่าจิตคนเหมือนลิง กระโดดโลดเต้นไปเรื่อย นี่ถ้าหากว่าเราสามารถทำให้จิตอยู่นิ่ง

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นตัวตน ทำ ก็ให้อยู่นิ่งด้วย มีความพอใจ มีโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่ใช่ให้กล่าว ให้เข้าใจให้ถูก เราพูดถึงโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ โลภะที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยมาบ่อยมาก แต่พอถึงตัวจริงๆ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นโลภะ และก็ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะขณะใดที่มีความเห็นผิด ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะไม่รู้เลยว่าเป็นความเห็นผิด ถ้าเข้าใจความหมายของคำว่าอนัตตาจะไม่มีใครทำ เพราะทำไม่ได้ ทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย ต้องตรงกันหมดสภาพธรรมเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เกิดเพราะเหตุปัจจัย ในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องสติปัฏฐานแล้วคุณวิจิตรจะทำก็แสดงว่าไม่เข้าใจลักษณะของสติ ไม่เข้าใจความเป็นอนัตตาของธรรม นี่หนึ่งชาติแล้ว และก็ไม่ทราบว่ามาจากชาติก่อนๆ อีกกี่ชาติ แล้วก็จะต่อไปอีกกี่ชาติ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และอีกประการหนึ่งก็ขอฝากคุณวิจิตรอีกคำเดียวก็คือว่ามีคำว่า “เพิกอิริยาบถ” มีไหมในพระไตรปิฎก และอรรถกถา เพราะเหตุว่าที่ไม่ประจักษ์ไตรลักษณะเพราะอิริยาบถปิดบังทุกขลักษณะ สันตติปิดบังอนิจจัง และก็ฆนสัญญาปิดบังอนัตตา

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 129


    หมายเลข 9151
    27 ม.ค. 2567