ศึกษาเพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง อบรมสติ อบรมสัมปชัญญะ อย่างไรถึงจะละคลายให้ตัวเราเล็กลงไป นอกจากฟัง
ท่านอาจารย์ คือการฟังต้องทราบว่าฟังเพื่อเข้าใจเท่านั้นเองตลอดชาติ หรือกี่ภพกี่ชาติก็ตาม เข้าใจอะไร เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นเราจะไม่มีโอกาสรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งจะใช้คำว่าธาตุต่างๆ แต่ละอย่างก็ได้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าไม่ต้องกังวลถึงปฏิบัติ ไม่ต้องกังวลถึงปฏิเวธแต่ฟังเพื่อเข้าใจ เวลาที่ฟังเพื่อเข้าใจก็ต้องมีการพิจารณาด้วย ถ้าเราไม่พิจารณา เราก็ไม่เข้าใจสิ่งที่เราได้ยิน ขณะที่ฟังแล้ว ขณะที่กำลังฟังก็เข้าใจ และหลังจากฟังแล้ว ก็ยังพิจารณาไตร่ตรองเรื่องที่ได้ยินได้ฟังจนเป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกเพราะว่าถ้าเราได้ฟังเพียงนิดเดียวก็หมดไป แต่ถ้าได้ฟังแล้วยังคิดถึงสิ่งที่ได้ฟัง แล้วก็พิจารณาไตร่ตรอง อย่างในวันนี้ก็มีเรื่องของมนสิการเจตสิก ฟังแล้วเข้าใจในขณะที่ฟังแล้วก็ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้น เวลาที่เราจะพบข้อความใดในพระไตรปฎก ในอรรถกถาหรือได้ฟังจากผู้ใดก็ตามถ้าเรามีความเข้าใจของเราเองที่มั่นคง เราก็สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เป็นจริงหรือเปล่า ถ้าจะมีคนกล่าวว่ามนสิการได้แก่จักขุวิญญาณอย่างนี้เราก็รู้แล้วว่าไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเข้าใจแล้วเรารู้ว่าการฟังทั้งหมดไม่ได้เข้าใจเพียงจากฟัง และจากไตร่ตรอง แต่จะต้องถึงการเข้าใจของลักษณะสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังเป็นเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทั้งหมด ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องนามธรรม รูปธรรมขณะนี้ก็กำลังปรากฏ ขยายไปเป็นจิต และเจตสิกก็เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ปรากฏนั่นเอง เพื่อที่จะให้เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏชัดเจนในความเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ของใคร มีปัจจัยก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเข้าใจอย่างนี้ตั้งแต่ต้นว่าฟังเพื่อเข้าใจขณะนั้นก็จะกัน และละโลภะที่คิดว่าเราจะปฏิบัติหรือเราจะรู้แจ้งสภาพธรรมซึ่งความจริงจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าการฟังแล้วไม่เป็นความเข้าใจของเราที่เพิ่มขึ้น เป็นความเข้าใจของเราเองที่ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย และทีละเล็กทีละน้อยเรารู้ว่ายังไม่ใช่การประจักษ์แจ้งแน่นอน แต่ว่าเราไม่ไปคิดถึงว่าเราจะประจักษ์แจ้งได้อย่างไร เมื่อไหร่ เพราะเรามีความรู้ว่าเป็นปัญญาเท่านั้นที่จะประจักษ์แจ้งได้
เพราะฉะนั้นปัญญาก็คือการเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเริ่มต้น และค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นทั้งวันเราจะไม่ไปคิดถึงสติปัฏฐาน หรือว่าการที่จะไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งกำลังเกิดดับ แต่เราจะรู้ว่าเรามีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏจากการได้ยินได้ฟัง และการพิจารณาของเราแค่ไหน เช่นทางตา จะได้ยินได้ฟังบ่อย จักขุปสาทเป็นรูป เป็นธาตุไม่ใช่เรา กระทบกับรูปารมณ์ซึ่งเป็นรูป เป็นธาตุ เป็นรูปธาตุ ไม่ใช่เรา แม้แต่เพียงสองคำ เตือนแล้ว เป็นธาตุก็ไม่ใช่เราทั้งสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และจักขุปสาทซึ่งกำลังกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากกฏมีจริงๆ ถ้าไม่มีการกระทบสิ่งนี้ จักขุปสาทไม่มี สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏไม่ได้แต่ขณะนั้นจักขุปสาทไม่ได้ปรากฏ แต่ให้มีความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็นความเข้าใจของเราจริงๆ ว่าเป็นเรื่องของธรรม เป็นเรื่องของธาตุ ซึ่งมีทั้งรูปธาตุ และจักขุธาตุคือจักขุปสาทรูป แล้วก็มีจิตที่กำลังเห็นก็เป็นจักขุวิญญาณธาตุ ถ้าเรามีความเข้าใจในเรื่องธาตุ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังฟังเรื่องนี้เพื่อให้เข้าใจขึ้น วันหนึ่งก็จะต้องมีการค่อยๆ เข้าใจ กำลังเข้าใจในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏหรือในจิตซึ่งเป็นสภาพกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ตราบใดที่ยังไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เราจะเรียนศึกษาไปมากน้อยเท่าไหร่ก็ตามชาติหน้าเมื่อเป็นเพียงเรื่องราวเราก็ลืม เหมือนเราคิดชาตินี้ เราคิดในภาษาไทย แต่ว่าชาติก่อนเราคิดภาษาอะไรไม่รู้ อาจจะคิดเป็นภาษาบาลีก็ได้ แต่พอถึงชาตินี้ก็ลืมหมดในภาษานั้น แต่กลับมาเข้าใจในภาษาที่เราสามารถจะเข้าใจได้โดยอาศัยภาษานั้นทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ประโยชน์จริงๆ ก็คือฟังให้เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏ
ที่มา ...