ศึกษาลักษณะของจิตหรือศึกษาตัวเอง


    ผู้ฟัง พวกนักตรึก (ช่างคิด) แต่ถ้าเราจะถึงโดยปุถุชนเพื่อจะให้นักตรึกนี้ลดน้อยลงไป จะช่วยเกื้อกูลอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จากช่างคิด แปลจากนักตรึก ก็เป็นคนที่ช่างคิด แล้วทุกคนก็คิด ก็ไปคิดในเรื่องที่ไร้สาระเสียมากมาย ก็เปลี่ยนมาเห็นประโยชน์ของการที่จะไม่คิดในเรื่องที่ไร้สาระ แต่จะตรึกคิดพิจารณาพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังจนกว่าจะเป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจากเราทุกคนที่นั่งอยู่ตามปกติอย่างนี้ แล้วก็ความคิดก็มีหลากหลาย แต่ว่าเวลาที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็เห็นประโยชน์ ความคิดของเราทราบได้เลย ใช่ไหม ว่าคิดอย่างอื่นไม่มีประโยชน์เท่ากับคิดเรื่องธรรม นี่คือสิ่งที่ทราบ แต่ว่าห้ามความคิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ค่อยๆ อบรม ทุกอย่างต้องอาศัยการอบรม ค่อยๆ อบรมจนกว่าจะเห็นว่า การคิดสิ่งที่มีประโยชน์กับเรื่องที่ไร้สาระต่างกันมาก ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ความคิดเรื่องไร้สาระจะค่อยๆ น้อยลง ตามความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ข้อสำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจธรรม เราเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเราเข้าใจเพียงชื่อ หรือเราอยากจะรู้ความหมายของคำว่า“สัมมาสังกัปปะ” ที่เกิดร่วมกับสติปัฏฐาน นั่นก็คือไกลไปจนกระทั่งถึงขณะที่ จะรู้คำนั้น จะเข้าใจความนั้น แต่ว่าจริงๆ แล้วก็คือว่า ความคิดที่ถูก ค่อยๆ ถูกขึ้น ค่อยๆ ตรงขึ้น แล้วเวลาที่ฟังธรรม เมื่อมีการไตร่ตรองเข้าใจ ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้น เป็นขณะที่เวลาที่สัมมาสติเกิดก็จะมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย มีวิริยะเกิดร่วมด้วยแม้ว่าไม่ปรากฏ แล้วก็มีสัมมาสมาธิเกิดร่วมด้วยแม้ว่าไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่จะปรากฏได้ ก็ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นก็ให้เข้าใจว่า ขณะนั้นที่สัมมาสติเกิด ก็จะมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย พร้อมกับสติสัมปชัญญะ

    ถ้าเข้าใจจริงๆ อย่างเวลาที่เราสนทนาธรรมกัน เราจะรู้เลย ว่าขณะนั้นทำให้เราได้พิจารณาธรรม และได้เข้าใจขึ้น ประโยชน์กว่าอย่างอื่น เพราะเหตุว่าบางคนเข้าใจว่าตัวเองกำลังฟังธรรม แต่ความจริงขณะนั้นเขาไม่ได้ศึกษาหรือไม่ได้ฟังธรรม เขาศึกษาเรื่องตัวเอง นี่ต้องเข้าใจความต่างเพราะว่าถ้ามีคำถามว่า วันนั้นฉันเดินไปที่นี่ และฉันเจอเด็กคนหนึ่งน่าสงสารมาก จิตขณะนั้นเป็นอะไร นี่ศึกษาธรรมหรือว่าศึกษาตัวเอง นี่ก็เป็นความต่างกันแล้ว

    เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าศึกษาธรรมคือรู้ว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง และไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็น จิต เป็นเจตสิก ที่เรากำลังศึกษาขณะนี้ คือเรื่องของจิตที่มีความติดข้อง และก็มีความติดข้องในความเห็นที่ผิด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ ถ้าจิตนี้เกิดขึ้น ก็แสดงว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นจิตที่ยินดีในความเห็นผิด หรือว่าจิตที่เกิดความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขณะนั้นก็จะรู้ว่าเป็นจิต ไม่ใช่เรา แทนที่จะเราเป็นอย่างนี้คือจิตอะไร นั่นคือพยายามที่จะไปรู้ตัวเอง

    เพราะฉะนั้นตลอดเวลาที่สนทนากัน ถ้าเป็นการสนทนาเรื่องของแต่ละบุคคล ก็คือศึกษาเรื่องตัวเอง ไม่ได้ศึกษาเรื่องจิต แต่ถ้าศึกษาเรื่องจิตก็มีความเข้าใจเรื่องจิต เพราะฉะนั้นเมื่อจิตประเภทไหนเกิดขึ้นก็ยังสามารถที่จะระลึกรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของจิตประเภทนั้นๆ เพราะฉะนั้นแม้แต่การศึกษาธรรมก็ต้องเข้าใจให้ถูก ว่าศึกษาเพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่ศึกษาเรื่องเรา ว่าขณะนั้นเรามีจิตอะไร


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132


    หมายเลข 9185
    29 ส.ค. 2567