คล้อยตามความเห็นผิด


    คุณอุไรวรรณ สำหรับการฟังธรรมก็มีความรู้สึกว่าถ้าเราไปฟังอสัทธรรมมันเสียเวลา เพราะแค่พระธรรมสัทธรรมที่เราจะต้องฟังในชีวิตประจำวัน มันก็หมดเวลาแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยที่ว่าจะต้องไปนั่งฟังอสัทธรรมของใครๆ เพื่อจะเอามาเปรียบเทียบว่าอันไหนขาวอันไหนดำ โดยส่วนตัว ไม่ค่อยเห็นด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่าต้องฟัง ถ้ามีโอกาสที่จะฟังๆ อะไร ก็ต้องฟังสัทธรรม ไม่ใช่ฟังอสัทธรรม แต่ถ้าไม่มีโอกาสฟังสัทธรรม ฟังอสัทธรรมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นอสัทธรรมอย่างไร มีความเห็นที่คลาดเคลื่อนอย่างนั้นเพราะอะไร เพื่อเราจะได้ชี้แจงได้ เกื้อกูลได้ ใช่ไหม ว่าความเห็นอย่างนั้นๆ ถูกหรือไม่ถูกอย่างไร ถ้าเพื่ออนุเคราะห์ ไม่ใช่คบ แต่พบคนพาล เพราะว่าคบนี่คือการไปมาหาสู่ การสนิทสนม และการคบแต่ละบุคคล ก็คือเหมือนกับการคบกับความเห็น แล้วแต่ว่าคนนั้นมีความเห็นอย่างไร คนอื่นอาจจะไม่ทราบว่าค่อยๆ คล้อยตามไปทีละเล็กทีละน้อย แม้แต่เรื่องของการโฆษณาสินค้า ก็ต้องอาศัยการคบบ่อยๆ ฟังบ่อยๆ ชี้ชวนบ่อยๆ จิตของคนที่ได้ยินได้ฟังก็จะค่อยๆ คล้อยตามไป นั่นแม้แต่ในเรื่องทางโลก เพราะฉะนั้น ทางธรรมอาจจะไม่รู้สึกเลยว่าการคบกับผู้ที่มีความเห็นผิด รับฟังบ่อยๆ ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะคล้อยตามไปได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132


    หมายเลข 9189
    28 ส.ค. 2567