คบเพื่ออนุเคราะห์


    ผู้ฟัง การพบ เพื่อจะมีจิตอนุเคราะห์ แต่ด้วยความที่ไม่มีวิริยะ ปัญญาก็เล็กน้อย ก็เลยไม่ต้องพบ ไม่ต้องคบไปเลย

    ท่านอาจารย์ อันนั้นก็ถูกต้อง เพราะเหตุว่า มิฉะนั้น เป็นการเสียเวลา คือประการหนึ่งต้องทราบว่าเขาพร้อมที่จะให้อนุเคราะห์หรือเปล่า นี่ข้อสำคัญที่สุด ถ้าเขาไม่พร้อม จะไม่มีประโยชน์เลยสักคำเดียว ต้องหมายความว่าผู้นั้นพร้อมรับฟัง ก็อนุเคราะห์ได้

    สำหรับเรื่องของธรรม ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ยุคนี้สมัยนี้ก็เป็นยุคที่ห่างไกลพระศาสนาถึง ๒๕๐๐ กว่าปี ความคิดความเห็นต่างกันมาก เพราะเหตุว่า แม้เพียงในครั้งพุทธกาลก็เริ่มที่จะมีความเห็นแตกแยก ทำให้มีการสังคายนามาโดยตลอด แต่ละกาล เพราะฉะนั้นในยุคนี้จะมีหนังสือ จะมีบทความ แล้วก็จะมีรายการธรรมซึ่งหลากหลาย ถ้าสิ่งใดที่ใช้คำว่า “ไร้สาระ” คือไม่มีสาระเลยก็ไม่ต้องฟัง เพราะรู้เลย ว่าตลอดทั้งหมด ก็คือว่าไม่มีสาระ แต่ถ้าเป็นเรื่องของวิชาความรู้ ซึ่งบางท่านก็อาจจะศึกษามา ก็ควรที่จะได้ฟังว่า เมื่อมีการศึกษา แม้ว่าเป็นพระไตรปิฎกฉบับเดียวกันเลย แต่ว่าความคิดความเข้าใจต่างกันตรงไหน เพราะอะไร เพราะฉะนั้นก็จะเป็นประโยชน์ที่ว่า จะได้รู้ว่าสำหรับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จะต้องมีความละเอียดรอบคอบ และแต่ละคนก็มีตนเป็นที่พึ่งจริงๆ

    ในการที่จะศึกษาพระธรรม เพื่อประการเดียวคือ เพื่อเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มั่นคง และจริงใจ เราก็จะฟังพระธรรมด้วยความรอบคอบ ไม่ได้ฟังว่าบุคคลนี้หรือบุคคลนั้น แล้วก็ข้อความที่ได้ยินได้ฟังก็ต้องพิจารณาด้วย ว่าขาดตกบกพร่องหรือว่าสมบูรณ์อย่างไร นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งถ้ามีสาระเล็กน้อยที่พอจะฟังก็จะได้รับฟัง แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีการศึกษามากก็จริง แต่มีความเห็นที่ผันแปรไปตรงกันข้ามกับพระสัทธรรม ก็เป็นอันว่าถึงจะอ่านกี่เล่ม กี่เรื่อง หรือฟังสักเท่าไหร่ก็ตาม ก็ไม่มีประโยชน์ อันนั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ที่คิดว่าถ้าจะฟังเพื่อประโยชน์ที่จะเกื้อกูล ก็ฟังเฉพาะส่วนที่เห็นว่าตรงนั้นเป็นส่วนที่ไม่สมบูรณ์ และก็สามารถที่จะเกื้อกูลด้วยเหตุผล ก็จะกล่าวธรรมหรือแสดงส่วนที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลเท่าที่ได้พิจารณาแล้วให้คนอื่นพิจารณาได้

    ผู้ฟัง ก็อยากจะมีจิต ที่จะอนุเคราะห์ แต่ก็รู้สึกว่า ต้องใช้ความเพียรมาก แล้วก็อะไรหลายๆ อย่าง

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญ เขาพร้อมที่จะฟังหรือเปล่า เราเพียรได้

    ผู้ฟัง ไม่พร้อม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่พร้อม ความเพียรนั้นก็ไร้ประโยชน์

    ผู้ฟัง ถ้าไม่พร้อม แล้วเราก็ไม่มีวิริยะที่จะเพียร หมายถึงให้เราวางเฉยหรือ ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถที่จะเปลี่ยนบุคคลที่สะสมความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิให้เห็นถูกได้ไหม

    ผู้ฟัง เปลี่ยนไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ทรงแสดงไว้ ว่าตามการสั่งสม แล้วเราเป็นใคร ถ้าพยายามจะเหนื่อยเปล่าหรือเปล่า หรือว่าควรจะใช้วิริยะนั้นกับผู้ที่รับฟัง

    ผู้ฟัง พูดถึงถ้าในส่วนของในเรื่องธรรม ก็คงจะทำอะไรได้ไม่มาก แต่ในฐานะที่เป็นบุตร ก็ต้องบำรุงท่าน

    ท่านอาจารย์ ก็ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด และจริงๆ ก็เป็นมารดาบิดากันเฉพาะในชาตินี้ หรือว่าอาจะเคยเป็นมาแล้วกี่ชาติก็ตามแต่ แต่เราก็ต้องทำหน้าที่เท่าที่จะทำได้

    ในครั้งพุทธกาลก็มีบุตรที่มารดาบิดาก็มีความเห็นผิด อันนี้ก็เป็นของธรรมดาแน่นอน เพราะฉะนั้นแล้วแต่ว่าเราสามารถที่จะทำหน้าที่ของบุตรได้ แค่ไหน ถ้าในเรื่องของธรรม เราคงจะไม่สามารถที่จะเกื้อกูล เพราะเหตุว่ามารดาบิดาท่านก็มีความเห็นว่าเราเป็นบุตรของท่านตลอดกาล ความคิดความเห็นใดๆ ของเราซึ่งมี ท่านก็คิดว่าของท่านต้องถูกต้องกว่า อันนี้ก็แน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเราทำหน้าที่อื่นด้วยความอดทน ด้วยวิริยะ ค่อยๆ ทีละเล็ก ทีละน้อยที่ว่า เราจะไม่พูดถึงความเห็นที่ต่างกันทันที เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึงความเห็นที่ต่างกันทันที ไม่สามารถที่จะรับได้ และก็ยังคงมีความเห็นว่าผิด แล้วก็บุคคลอื่นที่นำเรื่องต่างๆ มาให้เป็นฝ่ายที่ถูก เพราะฉะนั้นก็คงจะต้องอาศัยความใกล้ชิด และก็ความเข้าใจ ความกตัญญู วิริยะหลายๆ อย่าง จนกระทั่งถึงขณะที่จะพูดถึงเรื่องธรรมดาๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ก้าวไปสู่เรื่องของความเห็น แต่ว่าเรื่องของความเห็นก็คงจะไม่ต้องกล่าวไปชัดเจน ว่าที่ถูกคืออย่างนี้ หรือที่ผิดเป็นอย่างนี้ คือไม่ใช่เป็นผู้ที่ชี้ให้เห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่กล่าวถึงเรื่องราวซึ่งให้ท่านวินิจฉัย ว่าอย่างไหนจะถูกต้อง แล้วก็ฟังความเห็น แล้วเราก็ค่อยๆ แสดงความเห็นของเราทีละเล็กทีละน้อย นี่ก็เป็นเรื่องซึ่งอาจจะได้รับผล หรือว่ามากน้อยก็แล้วแต่ หรืออาจจะไม่ได้รับผลเลย แต่ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ท่านผู้ใหญ่ที่มีความเข้าใจว่าความเห็นของท่านถูกต้อง จะได้รับฟังความเห็นของเรา แต่ว่าไม่ใช่โดยการเสนอว่าอย่างนี้ถูก อย่างนั้นถูก แต่ค่อยๆ ใกล้ชิด ค่อยๆ ให้เข้าใจ โดยยกเรื่องขึ้นมาแล้วให้ท่านพิจารณาวินิจฉัย ด้วยตัวของท่านเอง ก็อาจจะทำให้ท่านได้รู้ว่าสิ่งที่ท่านกล่าว ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือเปล่า


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 132


    หมายเลข 9190
    28 ส.ค. 2567