ทุกอย่างที่มีเพียงอาศัยระลึก


    ผู้ฟัง ชีวิตประจำวันก็มาจากการกระทำ มาจากวิบากที่ได้รับ และที่นี้เวลาสิ่งที่กระทบที่ว่าเป็นวิบาก แต่ก็ไม่สามารถรู้ว่าเป็นวิบาก แต่ทันทีมันเกิดเหตุใหม่แล้ว ก็หมายความว่าปัญญาก็ไม่เกิดอีกเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ทุกอย่างที่มี เพียงอาศัยระลึก พอระลึกแล้วก็หมด และก็มีสภาพธรรมอื่นปรากฏจึงจะเห็นว่าสภาพธรรมนั้นไม่เที่ยง และก็มีลักษณะที่ต่างกัน แล้วก็ละเอียดมากด้วย ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดด้วย

    ผู้ฟัง เหตุใหม่ที่จะทำใหม่บางทีก็ร้ายแรง แสดงว่าไม่มีสติใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอกุศล สติจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย

    ผู้ฟัง ถ้าเหตุใหม่ที่เป็นกุศล มาจากโลภะ

    ท่านอาจารย์ ก็คนละขณะ แต่ความจริงเราไม่ประมาท เพราะเวลาที่เราได้ยินคำว่า “บารมี” ต้องเข้าใจว่าคือกุศลจิต กุศลธรรม ความดีในชีวิตประจำวัน ถ้าเราละเลยหรือเมินเฉยชีวิตประจำวัน เราจะค่อยๆ ดีขึ้นได้ยังไง เราไปคอยตอนไหนให้โลกุตตรจิตเกิด และก็ไปดับความเห็นผิด แต่ว่าชีวิตประจำวันของเราซึ่งไม่เคยสนใจเลย ว่าขณะนี้แท้ที่จริงขณะใดที่มีความเข้าใจถูก มีความอดทนเพิ่มขึ้น เช่นในขณะที่ฟัง รู้ว่าอีกไกล มีความอดทนเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ความท้อถอย ความเบื่อหน่าย นั่นก็คือวิริยบารมี ซึ่งค่อยๆ มี ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เพิ่ม หรือแม้แต่ทานบารมี การที่จะให้วัตถุแม้เพียงเล็กน้อย บางทีเราอาจจะให้ของใหญ่ๆ ได้ ให้เงินให้ทองจำนวนมากทำโน่นทำนี่ แต่ของในบ้านเล็กๆ หน่อยๆ ให้ใครไม่ได้ อาหารอร่อยๆ สักชิ้นสักคำให้ใครไม่ได้ ก็อย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าขณะใดที่กุศลจิตเกิด สภาพธรรมจะเปลี่ยน แต่ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ก็เป็นอย่างนั้น แล้วบารมีอยู่ตรงไหน ถ้าไม่ลืม สามารถที่จะให้ได้ ค่อยๆ ให้ ค่อยๆ ให้ จนกระทั่งเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นบารมีหนึ่งบารมีใด ไม่ว่าจะเป็นเมตตาบารมี ศีลบารมี ทางกาย ทางวาจา เป็นผู้สงบเพราะกุศลจิตเกิด จึงไม่มีกายที่ดุร้าย ทำร้าย วาจาก็เป็นวาจาที่เพิ่มความเอื้ออาทรถึงความรู้สึกของคนอื่นเพิ่มขึ้น เราก็เห็นวาจาของคนที่เขาพูดดีๆ ทำไมเราไม่พูดบ้าง เพียงแค่นี้ทำไม่ได้ แล้วจะสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งยากกว่านี้อีก เพราะว่าต้องสละความติดข้องถึงเนกขัมมบารมี คือรู้ว่าก็เป็นแต่เพียงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะได้สิ่งใดมาก็พอใจในสิ่งที่ได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีมากดีน้อยหรือยังไงก็ตามแต่ ก็เป็นผู้ที่ไม่เดือดร้อน ไม่ขวนขวายเหมือนเดิม ค่อยๆ สละ ค่อยๆ ละ ปัญญาก็จะค่อยๆ เข้าใจความจริงในขณะนั้นเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องที่ชีวิตประจำวันจริงๆ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 134


    หมายเลข 9204
    28 ส.ค. 2567