ฟังจนมีความมั่นคงเป็นสัจจญาณว่าเป็นธรรม


    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นรูปารมณ์สำหรับมนุษย์หรือรูปารมณ์สำหรับสัตว์จะเกิดโลภะชวนะที่เป็นโลภะมากน้อยหรือต่างกันอย่างไร อย่างเช่นลิง เห็นแก้วเห็นพลอย เขาก็ไม่ยินดียินร้าย มนุษย์เห็นเพชรเห็นพลอย ส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากโลภะต่างกัน ตรงรูปารมณ์ทำให้เกิดชวนะตรงนี้ ใช่ไหม ตามวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มี รูป ลักษณะที่เป็นลิง ถ้าไม่มี รูป ซึ่งทรงจำไว้ว่าลักษณะนั้นเป็นงู ถ้าไม่มี รูป ที่จำลักษณะนั้นว่าเป็นคน ไม่มี รูป เลย จิตเห็นก็คือจิตเห็น แต่ทีนี้เราก็เอารูปรวมด้วยก็เป็นลิงเห็น คนเห็น งูเห็น นกเห็น แต่ รูป ไม่ใช่นามธรรม เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงปรมัตถธรรมสภาพธรรมที่เป็นจิตก็เฉพาะจิตจริงๆ ว่า จิตต่างกันเป็นประเภทต่างๆ ไม่ใช่ รูป ต่างกันเป็นประเภทต่างๆ แต่ลักษณะของจิตต่างหากที่ต่างกันเป็นประเภทต่างๆ แล้วประเภทหนึ่งประเภทใดก็เป็นประเภทนั้น ไม่ต้องเอาคนเอาชื่อ ไม่เอารูปร่างใดๆ มาเกี่ยวข้องเลย

    เช่น ยกตัวอย่างจิตเห็นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับจิตเห็นอื่นๆ จิตเห็นก็คือจิตเห็น มีเจตสิกประกอบเท่ากัน เป็นวิบากเหมือนกัน เป็นผลของกรรมเพราะว่าเป็นชาติวิบาก เป็นกุศลไม่ได้ จิตเห็นเป็นกุศลไม่ได้ ไม่ว่าจิตเห็นของใคร จิตเห็นต้องเป็นวิบาก หลังจากนั้นแล้ว สำหรับพระอรหันต์เป็นกิริยาจิต ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีกุศลบ้างอกุศลบ้าง แล้วแต่ว่าเป็นจิตของใคร สะสมมาอย่างไร

    เห็นอย่างเดียวกัน บางคนก็คิดรังเกียจ บางคนก็เมตตา นี่คือความต่างของการสะสม บางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ สุนัขหน้าตาประหลาดๆ คนเห็นแล้วก็ดีใจ น่ารัก หน้าตาแปลกดี อีกคนก็เห็นว่าหน้าพิกล นี่ก็แสดงให้เห็นว่าสะสมมาต่างกัน ทั้งๆ ที่เห็นสิ่งเดียวกัน

    ผู้ฟัง สุนัขหรือมนุษย์ก็เห็นเหมือนกัน แต่ทีนี้ปรุงแต่งไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ตามการสะสม เพราะฉะนั้นหลากหลายมาก เห็นเหมือนกันดับไปแล้ว แต่หลังจากนั้นแล้วก็จิตนี่แหล่ะประมาณไม่ได้ว่าต่างกันแค่ไหน ริษยาก็ได้ เมตตาก็ได้ มุทิตาก็ได้ ก็แล้วแต่ โลภะก็ได้ โทสะก็ได้ ไม่ใช่เรา ข้อสำคัญคือเป็นธรรม ฟังเพื่อให้รู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ ให้มีความมั่นคง เป็นสัจจญาณว่าเป็นธรรม


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 134


    หมายเลข 9212
    28 ส.ค. 2567