ความงามของพระศาสนาอยู่ที่ไหน


    ผู้ฟัง แต่ยังไงก็แล้วแต่ พอฟังแล้ว เรียนแล้ว ก็ต้องน้อมเข้ามาตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าขณะนี้ เราจะไม่ศึกษาเรื่องเมื่อเช้าเราทำอะไร เป็นจิตอะไร ใช่ไหม มีความโกรธเกิดขึ้นบ่อยไหม พอเห็นอาหารแล้วโลภหรือเปล่า อาหารชนิดนี้ปรุงแล้วมีรสเป็นทางทวารไหน นั่นคือไปศึกษาเรื่องราวว่าเป็นทวารไหน เป็นอะไร แต่ขณะนี้จะไม่มีเรื่องราวอย่างนั้นเลย ในขณะที่ศึกษาธรรมก็คือว่า กำลังมีการเข้าใจเรื่องจิตเพิ่มขึ้นจากการฟัง และการไตร่ตรอง

    ผู้ฟัง ค่อนข้างที่จะลึกซึ้ง โดยเข้าใจได้ยากมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะมี " เรา "ที่กำลังศึกษา หรือว่ามีการฟังเรื่องธรรมให้เข้าใจ เพื่อที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ถ้ามี" เรา "กำลังศึกษา ก็เป็นเราที่รู้ และเป็นเราที่อยากรู้เรื่องต่างๆ และก็เป็นเราที่กำลังคิดด้วย แต่ว่าทั้งหมดก็คือยังเป็นเราอยู่ แต่ถ้าศึกษาเรื่องจิตก็คือ" เริ่ม "ที่จะให้เข้าใจแม้ขณะที่ฟังว่าไม่มีเรา แต่มีจิต เพราะฉะนั้นจิตที่ว่าเป็นยังไง ไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง

    คำว่า “ธาตุ” ใครก็จะไปบังคับไม่ได้ ใช่ไหม อย่างสิ่งที่แข็ง ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ใครก็เปลี่ยนลักษณะที่แข็งไม่ได้ จะบังคับให้แข็งไม่เกิดก็ไม่ได้ แข็งเกิดแล้ว ไม่ดับก็ไม่ได้ นี่คือธาตุชนิดหนึ่ง แต่ยังมีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่หวาน ไม่ใช่เค็ม แต่ธาตุชนิดนี้สามารถที่จะรู้ จะเห็น เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งเมื่อใช้คำว่า “ ธาตุรู้ ” หรือ “ สภาพรู้ ” ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คู่กัน เพราะฉะนั้นขณะนี้ เดี๋ยวนี้ มี " เห็น " เห็นไหม เราไม่ได้เอ่ยชื่อว่าใครเห็น ใครนั่งบนเก้าอี้ข้างหน้าซ้ายขวา แต่เรากำลังพูดถึงสภาพที่กำลังเห็น นี่คือเพื่อที่จะให้ระลึกว่าขณะนี้ลักษณะนั้นกำลังมีจริงๆ กำลังเริ่มที่จะเข้าใจว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป โดยที่ว่าแม้ยังไม่ประจักษ์ แต่ก็เริ่มรู้ว่าลักษณะของสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ คือ ไม่ใช่แข็งไม่ใช่อ่อน แต่ว่าเป็นธาตุที่เกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าย้อนกลับ สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ หมายความว่าต้องมีสภาพที่กำลังรู้สิ่งนั้นๆ จึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้นตลอดชีวิตก็ไม่มีเราเลย แต่มีเห็น มีได้ยิน มีจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แล้วจากการรู้แล้ว แล้วยังไงต่อ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางแล้ว เพราะว่าขณะนี้จิตเกิดดับก็ยังไม่ได้รู้

    ผู้ฟัง พอบอกสิ่งที่ปรากฏ แล้วจากนั้นล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องของจิตแต่ละชนิด เพราะว่าไม่ใช่มีแต่เห็น ได้ยินก็มี เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร

    ผู้ฟัง นี้ที่บอกเป็นอนัตตา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าบังคับบัญชาไม่ได้เลย บังคับไม่ให้เกิดไม่ได้ แล้วก็บังคับให้จิตซึ่งเป็นธาตุซึ่งเมื่อเกิดแล้วดับไป ก็จะเป็นปัจจัยให้จิตเกิดสืบต่อ ก็บังคับไม่ได้ว่าไม่ให้เกิดสืบต่อ เพราะเหตุว่าจิตเป็นปัจจัย เป็นอนันตรปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมที่เป็นจิตเกิดต่อเมื่อจิตขณะนั้นดับไป นี่ก็คือการศึกษาเรื่องจิต ไม่ใช่ศึกษาเรื่องเหตุการณ์

    ผู้ฟัง แต่ในกรณีที่ จิต เจตสิก รูป ที่เป็นปรมัตถ์ ถ้าศึกษา ลักษณะที่ปรากฏหรืออะไรต่างๆ ทีนี้พอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันก็เป็นเรา ไปพูดถึงเรื่องกรรมเรื่องอะไร มันก็ต้องมีตัวตนอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษา คือขณะที่กำลังพูดเรื่องสภาพปรมัตถธรรม แต่เวลาที่เราไม่ได้ฟังเรื่องนี้ เราก็จะมีการคิดการไตร่ตรอง เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่าเวลาที่เราไตร่ตรองเรื่องโลก เรื่องชื่อต่างๆ เรื่องวิชาการต่างๆ ขณะนั้นเราไม่ได้ไตร่ตรองเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่เราได้ยินได้ฟัง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จากการที่ฟังแล้วก็ไม่ลืม ก็ยังมีสัญญาความจำปรุงแต่งให้มีการคิดถึงสิ่งที่ได้ฟัง แล้วก็ไตร่ตรอง จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดมีจริงๆ " เห็น " มีจริง " ได้ยิน " มีจริง เพราะฉะนั้นฟังแล้วก็ยังไม่ประจักษ์สภาพนั้นๆ จึงยังไม่พอ ก็ยังจะต้องมีการที่จะได้ยินได้ฟังต่อไป จนกว่าสามารถที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดง ในขั้นของฟัง เป็นปริยัติ แต่ก็ถ้ามีแต่ปริยัติอย่างเดียว ใครเป็นผู้รู้ ใครเป็นผู้ทรงแสดง ก็ต้องมีบุคคลเดียว แต่ผู้ที่ตรัสรู้ และทรงแสดง สามารถที่จะบัญญัติคำ เป็นธรรมเทศนาที่จะให้คนอื่นที่ได้ยินได้ฟัง สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขั้นฟัง ในขั้นที่กำลังรู้ตรงลักษณะนั้น และในขั้นที่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงด้วย

    เพราะฉะนั้นความงามของพระศาสนา จึงมีทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง และที่สุด คือไม่ใช่ฟังเปล่าๆ รู้เปล่าๆ เข้าใจเปล่าๆ แต่สามารถที่จะถึงกาลที่รู้แจ้งสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงด้วย แต่ต้องเป็นผู้ตรง


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 137


    หมายเลข 9241
    29 ส.ค. 2567