ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ


    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ที่เราต้องพูดถึงเรื่องอกุศลมากๆ ก็เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง อย่างเมื่อวานนี้ก็พูดถึงเรื่องของเพียงแค่เห็น แต่ไม่ใช่แค่เห็นเลย เพราะฉะนั้นก็หมายความว่าเวลาที่สิ่งที่ปรากฏกระทบกับจักขุปสาททางตา จะมีจิตเห็นเกิดขึ้นเล็กน้อยสั้นมาก แต่เวลานี้เราเห็นเป็นคน เห็นเป็นสิ่งต่างๆ มากมายเกินกว่าที่จะเห็นเพียงธูปที่จุดแล้วก็แกว่งจนกระทั่งปรากฏว่ากลม ขณะนั้นก็เห็นได้ว่าเป็นนิมิตของสิ่งที่มี แล้วก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ฉันใด ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏจากการศึกษาก็ทราบว่าเป็นธรรมที่กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว ฉันนั้น เพราะฉะนั้นอะไรปรากฏ "นิมิต" เพราะไม่มีการรู้การเกิดดับ ก็จะมีการที่สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อจนปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นความทรงจำในนิมิตส่วนหยาบ ในอนุพยัญชนะส่วนละเอียด เพียงแค่ทางตา ไกลไปแค่ไหนแล้วจากความเป็นจริง คือเห็น ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วต่อจากนั้นเรื่องราวตามมาสารพัดตลอดชีวิต ทุกขณะที่เห็น ก็แสดงให้เห็นว่ากว่าจะรู้ตัวว่าอกุศลมีมากเท่าไหร่ ลึกแค่ไหน แล้วก็จะค่อยๆ รู้จริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท เป็นพระอริยบุคคล ก็ต้องอาศัยความรู้เท่านั้น ซึ่งความรู้ก็ต้องอาศัยกาลเวลาอีก ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าเพียงแค่ระลึกนิดเดียวแล้วก็ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่หมดกิเลส นั่นคือ ไม่ได้เข้าใจปริยัติโดยถูกต้อง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความที่เข้าใจปริยัติคือการศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมที่ถูกต้อง ต้องเข้าใจความจริงที่จะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง คืออบรมเจริญปัญญาที่จะเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือผลของปริยัติ คือการศึกษาด้วยความเข้าใจ แต่ถ้าไม่ศึกษาด้วยความเข้าใจจะไม่นำไปสู่สติปัฏฐานหรือสภาพที่กำลังรู้ตรงลักษณะด้วยความที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้

    เพราะฉะนั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติคือการเรียน การฟังเรื่องราวของสภาพธรรมเพื่อที่จะให้ถึงขณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะจริงๆ ทีละลักษณะ นั่นคือปฏิบัติ และจนกระทั่งถึงปฏิเวทคือการประจักษ์แจ้งความจริง ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประจักษ์แจ้ง แล้วก็ทรงพระมหากรุณาแสดงให้ผู้ที่ได้สะสมมา มีโอกาสได้สะสมความเห็นถูกต่อไป มีโอกาสได้ฟัง ได้ไตร่ตรองด้วยความละเอียด ด้วยความถี่ถ้วน ด้วยการละ ไม่ใช่ยิ่งฟังแล้วยิ่งอยาก อันนั้นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 139


    หมายเลข 9419
    29 ส.ค. 2567