ฉันทเจตสิกเกิดกับอเหตุกจิตและโมหมูลจิตหรือไม่


    ฉันทเจตสิก เป็นสภาพที่พอใจที่จะกระทำ ไม่เกิดกับจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ คืออเหตุกจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุมี ๑๘ แล้วก็มีโมหมูลจิตอีก ๒ ประเภทซึ่งไม่ประกอบด้วยฉันทเจตสิก ซึ่งก็มีเหตุผล สำหรับอเหตุกจิต ผู้ที่มาใหม่หรือว่าอาจจะยังไม่ได้อ่านหนังสือ อาจจะไม่ทราบว่า ๑๘ นั้นเป็นอะไรบ้าง ก็ไม่ต้องจำชื่อภาษาบาลีก็ได้ แต่ถ้าพูดภาษาไทย ก็สามารถที่จะรู้ว่าภาษาบาลีคืออะไร

    จิตเห็น เป็นผลของกรรม เกิดขึ้นโดยที่ว่าไม่มีโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก หรืออโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ซึ่งจะรวมเรียกว่า เหตุ ๖ ไม่มีเจตสิกทั้ง ๖ เกิดร่วมด้วยเลย ไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็น เพราะเหตุว่าบังคับเห็นให้เกิดตามความต้องการได้ไหม มีฉันทะที่จะให้เห็นอย่างนั้นเห็นอย่างนี้ และก็เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น สำหรับจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น

    จิตเห็น กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑

    จิตได้ยิน กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑

    จิตได้กลิ่น กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑

    จิตลิ้มรส กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑

    จิตรู้สิ่งที่กำลังกระทบกายเดี๋ยวนี้ ก็เป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑

    ๑๐ แล้วค่ะ ที่ไม่มีฉันทะเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีเหตุทั้ง ๖ เกิดร่วมด้วย และก็ไม่มีฉันทะเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าเลือกไม่ได้เลย ขณะนี้เกิดแล้ว เพราะอุปัตติเหตุ การกระทบกันของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตากับจักขุปสาท เลือกไม่ได้เลย เมื่อเป็นผลของกรรมที่จะทำให้เกิดเห็นขึ้น แม้ว่ากำลังเป็นภวังค์ ก็จะต้องมีการที่ไหว คือจะสิ้นสุดกระแสของภวังค์ และเมื่อภวังค์ไม่เกิดขึ้นทำกิจภวังค์อีกต่อไป เป็น ภวังคุปัจเฉทะ ภวังค์สุดท้าย ไม่เป็นภวังค์อีกต่อไป หลังจากนั้น ก็จะต้องมีจิตที่มีสิ่งที่กระทบเป็นอารมณ์ แม้ว่าขณะนั้นยังไม่เห็น เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต รู้ว่ามีอารมณ์กระทบทาง ๕ ทวาร หรือมโนทวาราวัชชนจิต รู้ว่าอารมณ์กระทบทางใจ ขณะนั้นก็ไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    คิดไม่ออก จำไม่ได้ อยากคิดออก พยายามสักเท่าไร ความต้องการที่เป็นฉันทะหรือเปล่า เป็นไปไม่ได้เลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่เราจะรู้ว่า ฉันทเจตสิกไม่เกิดกับอเหตุกจิตทั้ง ๑๘ และโมหมูลจิต ๒ เพราะว่าเลือกไม่ได้ ที่จะเห็น ที่จะได้ยิน ที่จะได้กลิ่น ที่จะลิ้มรส ที่จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือแม้แต่ที่จะคิดนึก ให้เห็นความวิจิตรของธรรม ทุกคน คิดหลากหลายมากมาย บางคนก็ชอบโทรทัศน์เรื่องนี้ บางคนก็ไม่ชอบเรื่องนี้ ชอบเรื่องอื่น ก็เป็นเรื่องของการคิดซึ่งบังคับไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าจะคิดเรื่องอะไร ต่างกับขณะที่ชอบ ใช่ไหม

    ถ้าชอบให้ทาน ก็ยังมีอีกว่า ทานประเภทไหน บางคนชอบสนทนาธรรม ให้ธรรมเป็นทาน บางคนชอบให้วัตถุเป็นทาน บางคนให้วัตถุเป็นทาน แต่ไม่อภัย ไม่มีอภัยทานเลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การสะสม แม้แต่ในเรื่องทานเรื่องเดียว ก็ยังมีฉันทะที่หลากหลายต่างๆ กันไป ทางฝ่ายอกุศลก็เช่นเดียวกัน ถ้าถามว่าใครชอบสีอะไร จะตอบเป็นเสียงเดียวกันไหมคะ หรือหลายเสียง หลายใจ หลายจำ หลายสะสม ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ฉันทะก็จะเกิดร่วมกับอกุศลด้วย และก็กุศลด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นประเภทใด

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่เราจะเข้าใจธรรมจริงๆ ไม่ต้องท่อง แต่เข้าใจในเหตุผล ว่าฉันทเจตสิกเป็นสภาพที่เกิดกับจิต แต่ว่าไม่เกิดกับจิตประเภทอเหตุกจิต และโมหมูลจิต เพราะเหตุว่า ไม่สามารถที่จะเลือกอารมณ์ได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 141


    หมายเลข 9489
    29 ส.ค. 2567