วิปลาส ๓ ในวัตถุ ๔
ผู้ฟัง
คำว่า “วิปลาส” อยากจะขอคำอธิบายสักนิดหนึ่ง
ท่านอาจารย์ วิปลาสนี่ก็เป็นอกุศลที่คลาดเคลื่อนจากลักษณะของสภาพธรรม โดยการที่เข้าใจผิด หรือว่าเพราะจิตกับเจตสิกที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม
อกุศลจิตเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ให้ทราบว่า วิปลาสเมื่อนั้น อันนี้เป็นขั้นต้น เพราะเห็นว่าเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับ แต่ไม่ได้เห็นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นก็วิปลาส
อ.วิชัย วิปลาส ก็จะมี ๓ อย่าง มี สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส และทิฏฐิวิปลาส
วิปลาสจะมีวัตถุ ๔ คือ
วิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง
วิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
วิปลาสในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน และ
วิปลาสในสิ่งที่ไม่งามว่างาม
ดังนั้น ก็เห็นว่าในชีวิตประจำวันของเรายังมีสัญญา ยังมีจิต ยังมีทิฏฐิ บางกาลก็เกิดที่มีความเห็นเป็นไปอย่างนั้น มีสัญญา ความทรงจำ หรือมีจิต มีทิฏฐิที่เห็นในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ก็คือการไม่รู้เห็นตามความเป็นจริงนั่นเอง ดังนั้น การละที่เป็นสมุจเฉทก็ตั้งแต่พระอริยบุคคลขึ้นไป ก็จะละตามลำดับของแต่ละขั้นของพระอริยบุคคล
คุณอุไรวรรณ ขณะใดที่โลภมูลจิตประกอบด้วยความเห็นผิด ขณะนั้นทิฏฐิวิปลาสก็ต้องมี ใช่ไหมคะ
อ.อรรณพ ถ้าวิปลาสด้วยทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ก็ยิ่งจำในความเห็นผิดนั้น พร้อมที่จะมีการตรึกนึกถึงความเห็นผิดนั้น ด้วยเคยจำในความเห็นผิดพร้อมด้วยโลภะนั่นมาแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นโลภะทิฏฐิคตสัมปยุตต์ จิตก็วิปลาส
คุณอุไรวรรณ ทั้ง ๓ ประเภท
อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ที่เกิดเรื่องราวต่างๆ เพราะจำได้ จำได้ว่าบุคคลนี้เคยเป็นบุคคลที่ดีหรือไม่ดีกับเรา เมื่อเห็นบุคคลนั้น ความจำที่เคยจำไว้ ก็เป็นปัจจัยให้มีการที่ตรึกนึกถึงสิ่งที่จำ และถ้าไม่มีความจำที่เป็นอกุศล ไม่มีการที่จะตรึกนึกถึงสิ่งที่เป็นอกุศลอีก และในทางตรงข้ามในการที่เราศึกษาธรรมที่เราฟังธรรมขณะนี้ สัญญาเจตสิกก็จำ จำด้วยความเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นการที่สะสมความจำ ความเข้าใจในพระธรรม แม้ในขั้นเรื่องราว ขณะนั้นก็เป็นความจำที่ค่อยๆ มั่นคงขึ้น เมื่อความจำนั้นมั่นคง ความว่องไวของสติปัฏฐาน ก็เป็นไปได้ ท่านจึงกล่าวว่า สัญญาที่มั่นคงเป็นปัจจัยให้ เกิดสติ เกิดปัญญา
ที่มา ...