สิ่งที่เป็นทุกข์แต่เข้าใจว่าเป็นสุข


    อ.วิชัย ขอเรียนถามท่านอาจารย์ คำว่า เห็นว่าสิ่งที่ทุกข์ว่าเป็นสุข คำว่า “ทุกข์ ”ในที่นี่จะมุ่งหมายถึงอะไรครับ เพราะเหตุว่าต้องถึงระดับพระอรหันต์ถึงละได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้หมายความถึงทั่วๆ ไป แต่ต้องหมายความถึงไตรลักษณะ ลักษณะที่เกิดดับ เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เห็นลักษณะที่เกิดดับ ก็เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นสุข

    อ.วิชัย ก็น่าคิดอย่างนี้ครับ เช่นพระโสดาบัน ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม สามารถละทิฏฐิทั้งหมด และสัญญา จิต ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยงได้ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตนได้

    ท่านอาจารย์ รวมทั้งในสิ่งที่ไม่งามว่างามที่เกิดกับความเห็นผิด โดยฐานะของความเห็นผิด ละหมดทั้ง ๔ อย่าง

    อ.วิชัย แต่สัญญา และจิต ในสิ่งที่ทุกข์ว่าเป็นสุข ในเมื่อท่านก็ประจักษ์แจ้ง เหตุใดถึงละไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็คงต้องคิดถึงการละของพระอริยเจ้าตามลำดับขั้น ผู้ที่เป็นปุถุชนไม่มีรู้การการเกิดดับเลย เพราะฉะนั้น ก็ยังคงมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ไม่ใช่สุขว่าเป็นสุข ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ที่ไม่งามว่างาม โดยฐานะของปุถุชน แต่ว่าเมื่อได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็สามารถที่จะดับความเห็นผิด ทั้งหมดเลยในเรื่องทั้ง ๔ นี้ได้ แต่การสะสมที่เคยพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ โดยไม่มีความเห็นผิด จะละด้วยอะไร เพราะเหตุว่าในชีวิตประจำวัน เรามีความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับโลภะ และมีโลภะในรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อละความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับโลภะได้แล้ว โลภะที่เป็นไปในรูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะละได้ด้วยอะไร เพราะยังมีอยู่ ยังไม่ได้ดับไป ก็จะต้องมีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 141


    หมายเลข 9492
    29 ส.ค. 2567