เพราะจิตเกิดรู้สิ่งนั้นๆ จึงปรากฏ


    ผู้ฟัง ถึงเราจะฟังขนาดไหน เราก็ยังไม่รู้สภาพของจิตจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะว่าเมื่อที่ผ่านมา เราเข้าใจว่าจิตเราคิด หรือว่าจิตใจเราดี จิตใจคนนี้มีเมตตา ไม่ใช่ลักษณะของจิตเลย

    ท่านอาจารย์ ก็คือจิต แต่ไม่ใช่เรา เพราะไม่รู้จึงเป็นเรา และก็ไม่รู้ธาตุที่เป็นจิต เพราะว่าได้ยินชื่อจิตเข้าใจได้ว่ามีจิต แต่ลักษณะของจิตเดี๋ยวนี้กำลังเกิดดับ กำลังรู้ทุกอย่างที่ปรากฏเพราะจิตรู้ ถ้าไม่มีจิตทุกอย่างจะปรากฏไม่ได้เลย ไม่มีอะไรจะปรากฏได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ ตลอดชีวิตก็คือเพราะจิตเกิดรู้สิ่งนั้นสิ่งนั้นจึงได้ปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังไม่ใช่สภาพของจิตที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ต้องเป็นปัญญาที่สามารถระลึกลักษณะนี้ กำลังเป็นจิตด้วยความค่อยๆ เข้าใจถูกต้องจนกระทั่งประจักษ์แจ้งธาตุที่เป็นจิต ไม่มีเรา ไม่มีใคร ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น แต่เป็นธาตุรู้

    ผู้ฟัง อย่างความโลภอย่างนี้ ที่เราพูดว่าเรามีโลภะ โลภะที่ปรากฏกับเราคือความอยากหรือว่าความต้องการ ถ้าจะคิดพิจารณาดูน่าจะเป็นเจตสิกที่ปรากฏมากกว่าที่จะเป็นจิต

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะจิตโลภไม่ได้ จิตติดข้องไม่ได้ จิตเพียงรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นโลภมูลจิต กับโลภเจตสิก สภาพธรรมแตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่แตกต่างกันเลย เพราะเหตุว่าเจตสิกเป็นนามธรรมซึ่งเกิดกับจิตมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท โลภะสภาพที่ติดข้องต้องการ ไม่สละ เป็นสภาพของเจตสิก ๑ ใน ๕๒ และโลภะจะเกิดกับอะไร ต้องเกิดกับจิต เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ โลภะเป็นสภาพที่ติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏ ถ้าเป็นโทสะ โทสะเป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่งเกิดกับจิต ลักษณะของจิตก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ซึ่งโทสะขุ่นใจไม่พอใจ ไม่ติดข้องในอารมณ์นั้น แต่จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 145


    หมายเลข 9625
    30 ส.ค. 2567