ศึกษาเพื่อให้ถึงการคลายการยึดถือว่าเป็นเรา
ผู้ฟัง อย่างตอนที่บอกว่ามีภวังคจิตเพื่อดำรงภพชาติ ทำไมต้องมีภวังคจิตดำรงภพชาติด้วย
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเข้าใจสภาพของจิต ธาตุที่เมื่อเกิดขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งเมื่อจิตนั้นดับก็จะทำให้จิตขณะอื่นเกิดสืบต่อ เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่มีปัจจัยนี้ เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ คนๆ หนึ่งจะมีจิตเกิดพร้อมกันสองขณะไม่ได้เลย เมื่อจิตเกิดแล้ว ตัวจิตเอง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทั้งสอง เป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่า เมื่อจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันดับแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทีละหนึ่งขณะ เว้นจุติจิตของพระอรหันต์ ซึ่งเมื่อดับแล้ว ก็ไม่เป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกเกิดสืบต่ออีกเลย
ผู้ฟัง ที่มีสืบต่อนั้นเนื่องจากอะไร
ท่านอาจารย์ เพราะความเป็นธาตุนั้น ซึ่งใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของธาตุนั้นไม่ได้ อย่างรูปธาตุ ธาตุดินใครจะเปลี่ยนแปลงให้หวานก็ไม่ได้ ต้องแข็ง เพราะฉะนั้นนามธาตุซึ่งเป็นจิต ใครจะเปลี่ยนแปลงความเป็นจิตไม่ได้ และความเป็นจิตหนึ่งประการก็คือ เป็นปัจจัยให้ทันทีที่จิตนั้นดับ จิต เจตสิกอื่นๆ เกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น ซึ่งใครก็จะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะสภาพความเป็นปัจจัยของธรรมแต่ละอย่างไม่ได้
ผู้ฟัง คือจะเกิดดับๆ ไปเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ ทีละหนึ่งขณะ โดยที่ขณะก่อนไม่ได้กลับมาอีกเลย ไม่มีทางที่จิตขณะก่อนจะกลับมาเกิดอีก
ผู้ฟัง อย่างภวังคจิตจะมีเจตสิกอยู่ในภวังคจิตด้วยหรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่าสภาพธรรม นามกาย (กาย) เกิดพร้อมกัน ไม่มีสภาพธรรมที่เกิดเพียงอย่างเดียวได้เลย จะต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมกันเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตเกิด จะไม่มีเจตสิกเกิดไม่ได้เลย และเวลาที่เจตสิกเกิดก็จะไม่มีจิตเกิดไม่ได้เลย แต่เวลาที่จิตหนี่งขณะเกิด จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท นี่อย่างน้อยที่สุดโดยเราไม่รู้ เพราะฉะนั้นปัญญาของเราแค่ไหน ที่เราเรียนจริงๆ เราเรียนเพื่อให้เข้าถึงความคลายการยึดถือว่าเป็นเรา ด้วยการที่ค่อยๆ เข้าใจแม้ขั้นการฟัง ก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง จนกระทั่งสามารถถึงขณะที่เวลาที่มีการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ปัญญาสามารถที่จะสละละความติดข้องได้ ตามลำดับขั้น นี่เป็นการอบรมเจริญปัญญาซึ่งไม่มีหนทางอื่นเลย
ที่มา ...