ลักษณะของสติสัมปชัญญะ


    ผู้ฟัง จะขอสนทนาในเรื่องของความต่างขั้นของปัญญา ทุกครั้งที่ได้ฟังอาจารย์พูดถึงเรื่องของการเห็น ก็จะคิดตามเรื่องราวที่อาจารย์พูดว่ามีสิ่งที่เห็นปรากฏกับสิ่งที่เรารู้เห็นปรากฏ

    ท่านอาจารย์ สภาพรู้

    ผู้ฟัง สภาพรู้ปรากฏ ก็จะเป็นปัญญาในการฟังเรื่องราวที่อาจารย์กล่าวให้ฟัง

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นทุกคนรู้ว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาเพราะมีสภาพเห็นซึ่งเป็นธาตุรู้ จะกล่าวว่าขณะนี้เข้าใจลักษณะของสภาพรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจในสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของธาตุรู้ซึ่งต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่คือปัญญาต่างขั้น

    ผู้ฟัง เวลาที่เรากระทบกระทั่งกับบุคคลรอบข้าง อย่างเช่นเดินชนกัน เราเกิดความไม่ชอบขึ้นมา เกิดโมโห เกิดมานะถือตน ขณะที่เกิดตรงนั้น จิตเรามีสภาพรู้ว่ามานะกำลังเกิด ตรงนี้คือความต่างขั้นของปัญญากับเรื่องเห็น ต่างกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ นี่คือการคิดนึก

    ผู้ฟัง ก็ยังเป็นเรื่องของการคิดนึกเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ก็ยังเป็นเราคิดว่าทำไมเขามาชนเรา อันนี้เรากำลังมีโทสะๆ มีลักษณะอย่างนี้ ก็คิดถึงโทสะเป็นคำแล้วใช่ไหม มีลักษณะอย่างนี้ แต่ว่าลักษณะของโทสะจริงๆ โดยสภาพที่ไม่ใช่เรา เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นไม่ใช่เรา เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ขณะนั้นถ้ารู้อย่างนี้ก็ละคลายการยึดถือ ละคลายความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อยมากในสิ่งที่กำลังปรากฏเพราะว่ากำลังรู้ตรงลักษณะ

    ผู้ฟัง คือเรารู้ตรงลักษณะโทสะว่ากำลังเกิด

    ท่านอาจารย์ โดยไม่มีคำ

    ผู้ฟัง โดยไม่มีคำว่ามานะหรือโทสะด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีคำก็คือจิตคิดคำทีละคำ ขณะนั้นไม่ใช่มีลักษณะของโทสะ

    ผู้ฟัง อาจารย์กำลังจะบอกว่ามันเป็นอัตโนมัติของตัวมันเอง ทันทีที่เกิดก็ละคลายเลย

    ท่านอาจารย์ ธรรมที่เราได้ยินได้ฟังเป็นสิ่งที่เราจะให้เกิดกับเราไม่ได้เลย เป็นแต่เพียงมีการรู้ว่าความเข้าใจเป็นขั้นๆ ขั้นเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรมขั้นฟัง แต่ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะจริงๆ ไม่สามรารถจะรู้ได้ว่าขณะนั้นกำลังมีลักษณะของขั้นที่ปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจตรงลักษณะนั้นซึ่งเร็วมาก สภาพธรรมทุกอย่างเกิดดับเร็วมากแม้แต่เพียงสติที่ใช้คำว่า “ตามรู้” พร้อมกันทันที ถ้าเราศึกษาเราได้ยินได้ฟังว่ามโนทวารเกิดสืบต่อจากทางปัญจทวารเร็วเหมือนนกเกาะกิ่งไม้ ทันทีที่นกเกาะ เงาก็ปรากฏ ไม่ได้แยกจากกันเลย เพราะฉะนั้นไม่ต้องใช้คำว่ามโนทวาร ปัญจทวารอะไรเลย เพราะว่าแยกไม่ได้ ขณะที่กำลังเห็นเหมือนได้ยินด้วย ยังห่างกว่าขณะที่กำลังเห็นทางตา แล้วมโนทวารวิถีรู้พร้อมกัน จะใช้พร้อมกันคือเป็นการที่กล่าวโดยนัยที่ให้เห็นว่าเกือบจะแยกกันไม่ได้ ทั้งๆ ที่ความจริงก็มีภวังค์คั่น และก็มีจิตเกิดต่อหลายขณะ นี่ให้เห็นความว่าเร็วแค่ไหนขณะที่เหมือนเห็นกำลังเห็นขณะนี้ แล้วได้ยินยังเหมือนพร้อม แต่ตัดได้ยินออก เอาเพียงแค่เห็นทางจักขุทวารกับมโนทวารที่รู้สิ่งที่ทางตากำลังเห็นจะเร็ว และจะเหมือนกับยิ่งกว่าพร้อมแค่ไหน เพราะฉะนั้นสติไม่ต้องคิดเลยว่ามีลักษณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นความคิด แต่ทันทีที่มีสิ่งที่ปรากฏ และรู้ตรงนั้นยังไม่ได้ไปตรงอื่นเลย นั่นคือลักษณะของสติสัมปชัญญะ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 147


    หมายเลข 9649
    30 ส.ค. 2567