เพียงคิดว่าจะทำอย่างไรก็คือเราเป็นความเห็นผิดในข้อปฏิบัติ


    ผู้ฟัง อย่างโทสะเกิด พอเรารู้ว่าเป็นสภาพของโทสะ แต่ว่ามันไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่ามันหยุดอยู่ตรงนั้น หรือว่ามันหมดไป แต่ว่ายังต่อเนื่องเป็นเรื่องเป็นราว

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิด ถ้าเป็นสติปัฏฐานสิ่งนั้นหมดแล้ว สิ่งอื่นเกิด สติปัฏฐานตามรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ตามรู้ไม่ใช่ไกลเลย เหมือนปกติเลย เพียงแต่ว่าขณะนั้นเพราะสติระลึก สิ่งที่เคยปรากฏเหมือนไม่ชัด ลักษณะนั้นชัดเพราะสติที่กำลังรู้ แต่ความหมายของชัดที่นี่ ไม่ได้ชัดด้วยปัญญาที่สามารถจะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดดับ แต่ชัดเพราะรู้ตรงนั้น เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ว่าขณะใดไม่หลงลืมสติแม้ในขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะนั้นชัดเพราะสติกำลังรู้ตรงนั้น เพื่อปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจว่าลักษณะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงๆ และเป็นเพียงสิ่งนั้นเท่านั้นด้วยจะเป็นสิ่งอื่นไปไม่ได้ อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา เราก็กำลังอบรมความเข้าใจทุกครั้งที่สนทนาเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เป็นพื้นฐานพระอภิธรรมก็เพราะเหตุว่ากว่าปัญญาจะสมบูรณ์ถึงความเป็นจริงว่าเป็นอภิธรรมจริงๆ

    ซึ่งใครก็ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ และก็เป็นสภาพธรรมที่ละเอียดเพราะว่าเมื่อเกิดแล้วดับทันที และก็สภาพธรรมอื่นก็เกิดสืบต่อเหมือนไม่ดับ แต่ก็ไม่เคยรู้ความจริง

    เพราะฉะนั้นพื้นฐานพระอภิธรรมก็จะเกิดติดตามไปจนถึงขณะที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ต่างกันเลย แต่มีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นว่านี่เป็นธรรม ไม่ว่าจะกล่าวถึงโลภมูลจิตซึ่งเกิด โทสมูลจิต โมหมูลจิต หรือกุศลจิตเป็นสิ่งที่เข้าใจจากการฟัง แต่ลักษณะนั้นจริงๆ ไม่ได้ปรากฏ เพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิดรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็เริ่มเข้าใจพื้นฐาน นี่คือพื้นฐานของที่จะรู้ว่านั่นเป็นธรรมที่มีลักษณะจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่ไปสนใจเรื่องอื่นเลย เพราะเรากำลังข้ามลักษณะที่มีจริง ฟังเรื่องราวลักษณะนั้นก็มีปรากฏ แต่ก็ขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ตรงลักษณะนั้น ขณะนั้นก็เป็นความเข้าใจที่เป็นพื้นฐานที่มีความมั่นคงว่าไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง อย่างนั้นแสดงว่าในปัจจุบันที่เราระลึกได้ว่าเป็นลักษณะของโทสะที่เกิดกับตัวเราก็คือความหลงลืมสติ แล้วก็เป็นความคิดนึก แล้วก็เป็นตัวเราที่คิดถึงสภาพโทสะ แต่ยังไม่ใช่สติระลึก

    ท่านอาจารย์ อาศัยการฟัง ทำให้มีการรู้ แต่คิดถึงคำ เพราะว่าลักษณะนั้นดับแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในขณะนี้ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็จะรู้ว่าเพียงอาศัยระลึก เพราะว่าจะติดอยู่ตรงนั้นไม่ได้ มีสภาพธรรมอื่นเกิด และปรากฏ ถ้ายังติดอยู่ตรงนั้นก็คือว่าขณะนั้น ไม่ใช่เพียงอาศัยระลึกเพราะว่ามีความเป็นเราอยู่ตรงนั้น ความเป็นเรานี่ละเอียดมาก และก็เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แม้แต่การยึดมั่นในสภาพธรรมด้วยความเป็นเราที่เป็นสักกายทิฏฐิ ก็จะรู้เมื่อสิ่งนั้นกำลังมี กำลังเป็นอย่างนั้น ก็จะเข้าใจได้ว่าขณะนั้นเป็นความเห็นผิดที่ยังเหลืออยู่ ที่ยังมีความติดในสภาพธรรมนั้นอยู่

    ผู้ฟัง แต่ลักษณะความรุ่มร้อน หงุดหงิด ประทุษร้ายแม้กระทั่งตัวเองในขณะที่โทสะเกิด เราสัมผัสได้ เรารู้ได้ แต่ไม่มีสติปัญญาหรือไม่มีแม้กระทั่งจะทำยังไงให้มันผ่อนคลายลง

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาคิดว่าคนอื่นรู้เหมือนคุณสุกัญญาหรือเปล่าเวลาโกรธก็รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเมื่อมีการฟังก็เริ่มที่จะมีความคิดถึงลักษณะที่กำลังปรากฏโดยชื่อ แต่ก็เป็นเราที่คิดถึง

    ผู้ฟัง แต่มันอยู่ในช่วงของทุกข์โทมนัส

    ท่านอาจารย์ ลักษณะนั้นเปลี่ยนไม่ได้เลย ไม่ใช่เรา ทุกข์ก็ตาม โทมนัสก็ตามก็ไมใช่เรา ที่จะรู้จริงๆ ก็คือว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่มีลักษณะอย่างนั้น ดังนั้นที่คุณสุกัญญาคิดว่าขณะนั้นเป็นทุกข์ เป็นเราทุกข์ ใช่ไหม แล้วจะทำยังไง ขณะนั้นก็คือว่ายังไม่มีความมั่นคงที่จะรู้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นธรรมเท่านั้น จึงคิดจะทำอย่างไร เห็นไหม ความเห็นถูกหรือความเห็นผิดที่คิดว่าจะทำยังไง เห็นไหม ความเป็นตัวตนแอบแฝงละเอียดมาก เพียงแค่คิดว่าจะทำยังไงก็คือเรา เพราะฉะนั้นกว่าจะพ้นจากความเป็นธาตุของโลภะ ความติดข้องด้วยความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนนานมาก

    แต่ต้องเริ่มจากการที่รู้หนทางที่ถูก ถ้ายังคงมีหนทางที่ผิดที่จะทำ แทนที่จะรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้สภาพธรรมที่ได้ฟังมาว่าเกิดแล้วก็ดับ แต่ลักษณะนั้นก็ยังไม่ได้ปรากฏเพราะว่าปัญญายังไม่สมบูรณ์พอ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราจะไปทำอะไรทั้งสิ้น ตราบใดที่ขณะนั้นจะทำอะไร ว่าจะทำยังไง นั่นคือยังไม่ออกจากความเห็นผิดที่เป็นหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง กว่าจะพ้นแม้แต่เพียงออกไปจากการเห็นผิดในการปฏิบัติก็ยาก แต่ก็อาศัยการฟังก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะเป็นเรื่องละวางทั้งหมดออกจากความเห็นผิดในข้อปฏิบัติก่อน แต่ก็มาอีกเพราะว่ายังมีอยู่ มีเหตุปัจจัย นี่คือความตรงกับความเป็นจริงซึ่งผู้นั้นจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่านี่เพียงแค่เข้าใจ ถึงเวลาก็เป็นอย่างนั้น แต่ปัญญาที่ได้สะสมมากก็จะทำให้มีการระลึกได้เรื่อยๆ แค่รู้ว่าหนทางนี้ยากก็ประเสริฐแล้วสำหรับการที่จะไม่เป็นผู้ประมาท และไม่ไปหนทางอื่น

    นี่คือการสะสมสัจจญาณที่มีความมั่นคงในอริยสัจ ๔ การศึกษาพระธรรมต้องไม่ลืมจุดประสงค์ เพื่อให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรือไม่ว่าจะเป็นอกุศลก็ตาม รู้จริงๆ ว่ามีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี่เป็นหนทางที่จะทำให้ไม่ยึดถือสภาพธรรมใดๆ ว่าเป็นตัวตน มิฉะนั้นก็จะมีความเป็นเรา ไม่พอใจสิ่งนี้ อยากจะให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดี

    เพราะฉะนั้นจะไม่เห็นการติดในกุศลเพราะเหตุว่าไม่พอใจในอกุศล แต่พอใจในกุศล เพราะฉะนั้นเวลากุศลเกิดขึ้นก็มีความพอใจ และก็ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ตราบใดที่ไม่รู้ว่าเป็นเพียงธรรมแต่ละประเภทเท่านั้นเอง


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 153


    หมายเลข 9705
    31 ส.ค. 2567