ความรู้สึกทุกประเภทรู้ได้ทางใจ


    ผู้ฟัง พูดถึงอารมณ์ซึ่งหมายถึงจิตรู้อย่างเช่นเวทนา ก็เป็นความรู้สึกหรือเป็นอารมร์?ปรากฏได้จริงในชีวิตประจำวัน แต่ก็ยังไม่ใช่อารมณ์ในลักษณะของสิ่งที่จิตรู้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่มีความรู้สึกเกิดขึ้นจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าขณะนั้นกำลังรู้ความรู้สึกนั้น อย่างเจ็บ จะบอกไม่รู้ไม่ได้ ลักษณะนั้นมีจริงแต่เพราะการเกิดดับเร็วมากสลับกับทางนั้นๆ กับทางใจ เพราะฉะนั้นทางใจจะรู้เรื่องทุกอย่าง มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้สืบต่อจากทางปัญจทวาร เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงรูปารมณ์หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา และรู้ได้ทางตา และทางใจสองอย่าง รูปารมณ์ยังคงเป็นรูปารมณ์ไม่ว่าจะรู้ได้ทางไหน จะเปลี่ยนลักษณะของรูปารมณ์ไม่ได้ เช่นในขณะนี้รูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏกับจักขุวิญญาณ และจักขุทวารวิถีจิต คือจิตใดๆ ก็ตามที่อาศัยจักขุวิญญาณ และเกิดขึ้น และก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้ละเอียด เราจะไม่รู้ปัญจทวาราวัชนนจิตซึ่งเกิดก่อนจักขุวิญญาณ ไม่รู้จักสัมปฏิจฉันนจิตซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ ไม่รู้จักสันตีรณจิตซึ่งเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต ไม่รู้โวฏฐัพพนจิต ไม่รู้แม้อกุศลหรือกุศลซึ่งเกิดสืบต่อ ซึ่งโดยมากยากที่จะเป็นกุศลเพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะให้อกุศลเกิด ยากอย่างนี้ และจนถึงเมื่อกุศลเกิดได้จนถึงกิริยาจิตเกิดต่อจากที่เห็นได้จริงๆ นี่ก็เป็นความละเอียดมากของจิตซึ่งเกิดดับสลับอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าตามปกติธรรมดา เราจะไม่รู้อย่างนั้น เราจะรู้เพียงว่าเห็นแล้วรู้สิ่งที่เห็นเป็นอะไร แต่ต้องแยกว่าในขณะที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไรก็มีสิ่งที่ปรากฏสลับแยกไม่ออกเลย รวดเร็วมาก เพราะฉะนั้นรูปารมณ์ไม่ว่าจะรู้ทางตาหรือทางใจก็เป็นรูปารมณ์ในขณะนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นเปลี่ยนรูปารมณ์สิ่งที่สามารถจะปรากฏทางตา สัทธารมณ์คือสิ่งที่สามารถปรากฏทางหู คันธารมณ์สิ่งที่ปรากฏทางจมูกคือกลิ่น รสารมณ์คือรสต่างๆ ที่ปรากฏทางลิ้น และโผฏฐัพพารมณ์คือลักษณะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่ปรากฏทางกายให้เป็นอื่นไม่ได้ แต่รู้ได้ว่านอกจากรู้ทางปัญจทวารนี้แล้ว ทางมโนทวารก็รู้อารมณ์นั้นแหละสืบต่ออย่างรวดเร็วซึ่งแยกไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ให้เราไปนั่งแยกว่าขณะนี้กำลังเป็นรูปารมณ์หรือว่ารู้ทางตา หรือว่ารู้ทางใจ เพราะเหตุว่าการจะรู้อย่างนี้ได้จริงๆ ต้องเป็นวิปัสสนาญาณซึ่งสภาพธรรมปรากฏทางมโนทวาร เมื่อนั้นก็จะรู้ว่ามโนทวารสามารถที่จะรู้ทุกอย่างต่อจากทางปัญจทวารได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นรูปารมณ์ที่รู้ได้ทางตายังคงเป็นรูปารมณ์แม้ว่ารู้ได้ทางใจ เพราะฉะนั้นสำหรับธัมมารมณ์ทางใจโดยเฉพาะจะมีอารมณ์ทั้งหมด ๖ อย่าง ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ทั้ง ๕ อารมณ์นี้ใจก็รู้ด้วย แต่สำหรับอารมณ์เฉพาะของทางใจไม่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงชื่อว่าธัมมารมณ์ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่านอกจากอารมณ์ ๗ นี้แล้วที่เหลือเป็นธัมมารมณ์เพราะเหตุว่าสามารถจะรู้ได้ทางใจ อารมณ์ใดๆ ก็ตามที่สามารถจะรู้ได้ทางใจ อารมณ์นั้นเป็นธัมมารมณ์ เพราะฉะนั้นพื้นฐานพระอภิธรรมก็คือว่าให้เรามีความเข้าใจถูกต้องมั่นคง ไม่สับสน แม้ในคำว่า “ธัมมารมณ์” ก็เป็นอารมณ์ที่รู้เฉพาะทางใจ ไม่สามารถจะรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่นจิต และเจตสิก ปสาทรูป สุขุมรูป นิพพาน บัญญัติ ไม่สามารถจะรู้ได้ทางทวารทั้ง ๕ จึงเป็นธัมมารมณ์

    ผู้ฟัง อย่างสภาพเจ็บก็ต้องตอบว่าเป็นทางใจแน่นอน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ถ้าความเจ็บแปลออกมาเป็นความทุกข์ทางกาย

    ท่านอาจารย์ ลักษณะนั้นต้องเป็นความทุกข์ทางกายแน่เพราะเจ็บ จะเป็นทางอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นอารมณ์ที่จิตรู้

    ท่านอาจารย์ เจ็บเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เจ็บเป็นความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ รู้ได้ทางไหน จะรู้ลักษณะของสภาพเจ็บๆ ปวดรู้ได้ทางไหน

    ผู้ฟัง จริงๆ รู้ได้ทางใจ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ก็จริงๆ

    ผู้ฟัง แต่จริงๆ แล้วก็ต้องเกิดทางกาย

    ท่านอาจารย์ เจ็บอาศัยกายปสาท แต่ว่าจะรู้ลักษณะที่เจ็บไม่ใช่รู้แข็ง เพราะฉะนั้นถ้ารู้แข็งกายวิญญาณรู้แข็ง แต่ว่าสภาพที่เจ็บ กายวิญญาณที่รู้แข็งจะรู้เจ็บได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเจ็บรู้ได้ทางไหน

    ผู้ฟัง รู้ได้ทางใจ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เวทนาประเภททุกข์ทางกายใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึกทุกประเภทรู้ได้ทางใจ ความรู้สึกทุกประเภทไม่ใช่รูป ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่รส ไม่ใช่โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นก็รู้ได้ทางใจ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 155


    หมายเลข 9718
    30 ส.ค. 2567