สติระลึกที่ความรู้สึกตึงเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน


    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าความรู้สึกเป็นทุกข์กับเป็นสุขเกิดกับกายวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ แต่ตัวกายวิญญาณไม่ได้รู้ความสุขหรือความทุกข์ กายวิญญาณต้องรู้เย็นหรือร้อนทางกายที่กระทบ

    ผู้ฟัง แล้วจิตที่รู้สภาพของเป็นสุขกับเป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ชอบ เรายังไม่พูดถึงนั่นเลย รู้ไหมว่าชอบ

    ผู้ฟัง ทราบค่ะ

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะที่ชอบได้ทางไหน

    ผู้ฟัง ทางใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นลักษณะที่เจ็บ

    ผู้ฟัง ก็ทางใจ จิตรู้ทางใจกับความคิดนึกเป็นคนละอย่างกันหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรม หรือว่าเป็นบัญญัติไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรม อย่างเห็นคน อะไรเป็นปรมัตถ์ อะไรเป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง แต่การทรงจำคิดนึกว่าเป็นคน ขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นคนๆ จริงหรือเปล่า หรือว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางใจสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง แม้กระทั่งความคิดนึกก็เป็นอารมณ์ทางใจ

    ท่านอาจารย์ ทางใจรู้ได้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง ลักษณะที่ต่างกันระหว่างตึงกับเจ็บ ถ้าจะเป็นอารมณ์ เป็นเวทนา ถ้าจะระลึกถึงเวทนา ก็จะระลึกได้แค่เวทนาที่เป็นทุกข์ใจ ลักษณะของเวทนาที่จะระลึกขณะที่เป็นตึง

    ท่านอาจารย์ โดยมากเราจะคิดถึงคำต่างๆ ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกแต่ว่าเวลาที่ลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แทนที่เราจะไปบอกว่ากายานุปัสสนา ไม่ต้องบอกได้ไหม ถ้าขณะนั้นสติกำลังรู้ตรงลักษณะที่เป็นรูปหนึ่งรูปใดที่กาย ซึ่งรูปที่กายที่จะปรากฏตามปกติจะพ้นจากเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะใดที่สติกำลังรู้ตรงนั้น เราจะบอกว่าเป็นเวทนานุปัสสนาไม่ได้ เพราะเหตุว่ากำลังรู้รูปกายก็ต้องเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือแทนที่จะเอาตัวหนังสือมาแล้วพยายามว่าถ้าตรงนี้ก็เป็นอย่างนั้น แต่เวลาที่สภาพธรรมจริงๆ เกิดปรากฏก็เปลี่ยนไม่ได้ ถ้าจะกำลังมีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด แล้วก็รู้ลักษณะที่รู้สึก เพราะว่าจริงๆ แล้ววันหนึ่งๆ ก็มีลักษณะทั้งนามธรรม และรูปธรรมเกิดดับสลับเร็วมาก ซึ่งถ้าสติไม่เกิดจะไม่มีทางรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดเลย เพราะว่าลักษณะนั้นเกิดแล้วดับแล้วทุกขณะอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความรู้สึกอย่างเฉยๆ ทางตา สติก็ไม่ได้ระลึก เพราะฉะนั้นจิตเห็นก็ดับไปพร้อมกับอุเบกขาเวทนา และเจตสิกอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เวลาที่สติสัมปชัญ ญะเกิด และก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมใด เราก็เรียกอย่างนั้นเพราะกำลังมีลักษณะนั้นเป็นอารมณ์ ถ้าระลึกลักษณะที่เป็นความรู้สึก จะเป็นความรู้สึกอะไรก็ได้ไม่จำกัดเลย สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ เฉยๆ ก็ได้ ดีใจก็ได้ เสียใจก็ได้ มีปรากฏในชีวิตประจำวัน และขณะใดสติระลึกความรู้สึกไหน เราก็เรียกตามนั้นตามความเป็นจริงว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะไปบอกว่ากายาก็ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเรามาสงสัยว่า เอ๊ะ นี่จะเป็นกายานุปัสสนา นี่จะเป็นเวทนานุปัสสนา ไม่ใช่อย่างนั้น แล้วแต่เมื่อสติเกิด มีลักษณะใดเป็นอารมณ์ ก็ตามความเป็นจริง ถ้ามีเวทนาเป็นอารมณ์ กำลังรู้ลักษณะเฉพาะนั้นก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่คือการที่สติสัมปชัญญะจะรู้ตรงแล้วค่อยๆ เข้าใจในลักษณะนั้นว่าเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน แล้วจึงจะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 156


    หมายเลข 9720
    30 ส.ค. 2567