ไม่มีตัวตนที่จะไปจัดการให้จิตสักขณะหนึ่งเกิดขึ้น


    ผู้ฟัง สงสัยในความติดข้องของโทสะว่าลักษณะความติดข้องของโทสะ

    จริงๆ แล้วโทสะเป็นลักษณะที่ไม่อยากได้ คือเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับโลภะ แต่ว่ามันก็มีความติดข้องใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โทสะติดข้องไม่ได้เลย ลักษณะที่ติดข้องเป็นลักษณะของโลภะไม่ใช่ลักษณะของโทสะ แต่โทสะมีลักษณะของฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฉันทะคือความพอใจ ไม่ใช่ความติดข้อง พอใจที่จะกระทำ แต่ไม่ใช่ความติดข้อง ชอบโกรธไหม

    ผู้ฟัง ไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่โกรธเกิด ขณะที่โกรธเกิดมีฉันทะที่จะโกรธไหม พอใจที่จะโกรธไหม

    ผู้ฟัง ก็พิจารณาได้ว่าขณะโกรธมีแต่ความไม่พอใจ ไม่ได้มองเห็นลักษณะของฉันทะที่อาจารย์กล่าว

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วถ้าไม่พอใจจะโกรธไหม ลองคิดดู ถ้าไม่พอใจจะโกรธหรือ เพราะฉะนั้น เวลาโกรธก็แสดงว่าพอใจที่จะโกรธ ถ้าไม่พอใจที่จะโกรธจะโกรธไหม คำตอบก็คือว่าถ้าโกรธก็แสดงว่าต้องพอใจที่จะโกรธ

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วลักษณะของฉันทะเป็นความพอใจ

    ท่านอาจารย์ ในขณะจิตนั้น แต่ไม่ใช่ความติดข้องที่เป็นลักษณะของโลภะซึ่งโลภะติดข้องได้ทุกอย่างนอกจากโลกุตตรธรรม นิพพานไม่เกิดขึ้นที่จะให้โลภะพอใจได้เลย

    เพราะฉะนั้น จะไปติดข้องในนิพพาน หรือจะไปติดข้องในโลกุตตรจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ก็ไม่ได้ เพราะยังไงๆ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นโลภะที่จะติดข้องในสิ่งที่ไม่ประจักษ์ เพราะว่าโลภะจะประจักษ์ลักษณะของนิพานไม่ได้ โลภะจะประจักษ์หรือมีลักษณะของโลกุตตรจิตเป็นอารมณ์ไม่ได้

    ผู้ฟัง อย่างในชีวิตประจำวัน อย่างเหตุการณ์ที่เกิดว่าคนที่เราไม่ชอบมากๆ เลย และเขาได้รับทุกข์ และเราก็มีความพอใจ หรือพูดตามภาษาทั่วๆ ไปก็คือสะใจ ซึ่งการสะใจนี้ก็พิจารณาว่าเป็นลักษณะของโทสะ แต่ก็มีความพอใจที่เขาได้รับทุกข์

    ท่านอาจารย์ พอใจที่จะเป็นโทสะนั้น ในขณะนั้น

    ผู้ฟัง อันนี้ไม่ใช่ลักษณะพอใจที่เขาได้รับทุกข์ อันนี้เป็นลักษณะของฉันทะ ไม่ใช่โลภะหรือ

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่เขาได้รับทุกข์ จิตของเราเป็นยังไง

    ผู้ฟัง จิตของเรารู้สึกดี

    ท่านอาจารย์ สบายใจแน่ๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง เราก็เลยคิดว่ามันเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ ดี สบายใจ หรือว่าพอใจ

    ผู้ฟัง พอใจ

    ท่านอาจารย์ ทีนี้เวลาที่เขากำลังได้รับสิ่งที่ไม่ดี ใจของเรา

    ผู้ฟัง ไม่มีเมตตาเลย และเราก็มีความรู้สึกว่าเมตตานี่เป็นองค์ธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะซึ่งเป็นอโทสะ เพราะฉะนั้น ลักษณะตรงนี้มันก็น่าจะเป็น ...

    ท่านอาจารย์ ความติดข้อง ความพอใจในโทสะ โลภะพอใจในทุกอย่างได้แต่ขณะที่โทสะเกิด ไม่ได้หมายความว่าไม่มีฉันทะในโทสะ เพราะฉะนั้นโลภะก็มีกิจๆ ของโลภะ ไม่ใช่กิจเห็น ไม่ใช่ทัสสนกิจ ไม่ใช่กิจได้ยิน ไม่ใช่สวนกิจ ไม่ใช่สัมปฏิฉันนกิจ ไม่ใช่สันตีรณกิจ ไม่ใช่โวฏฐัพพนกิจ

    เพราะฉะนั้น กิจของโลภะก็คือชวนกิจ ซึ่งรูปนั้นยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดดับสืบต่อกันเป็นอาเสวนปัจจัย ถ้าชวนจิตดวงที่ ๑ ที่เป็นโลภะดับไปแล้วก็ทำให้ชวนกิจประเภทนั้นเกิดอีก เสพอารมณ์ซ้ำอย่างนั้นอีกจนถึงขณะชวนะที่ ๖ เป็นปัจจัยให้ชวนะที่ ๗ เกิดขึ้นอย่างนั้น

    ตื่นขึ้นมาก็สบายใช่ไหมวันนี้ มีเหตุปัจจัยจากการสะสม เป็นอุปนิสสยปัจจัย เราไม่มีตัวตนที่จะไปจัดการจิตสักขณะหนึ่งให้เกิดขึ้นทำอะไรได้เลย แต่สิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้วก็แสดงถึงความจริงที่ต้องมีปัจจัย และปัจจัยก็มีมาก ไม่ใช่มีปัจจัยเดียว


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 158


    หมายเลข 9770
    31 ส.ค. 2567